ข้อเสนอแนะจาก ETOs Watch ต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต่อ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 (2566 – 2570)
การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ
ในประเด็นด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่สี่ที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการฯ มีข้อเสนอ 15 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐลงนามเป็นสมาชิก OECD เพื่อจะได้ดำเนินการปฏิบัติตามแนวทาง OECD โดยการจัดตั้งองค์กรเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิที่มีการลงทุนไทยในต่างแดน เพื่อคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ควรกำหนดให้ชัดเจนและทำให้มีสภาพบังคับ สำหรับการทำ Human Rights Due Diligence เนื่องจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ยังไม่เห็นว่า มีเนื้อหา หรือความคืบหน้าอย่างไร และใครจะเป็นผู้จัดทำ อีกทั้ง การจัดทำรายงานต่างๆ ควรมีความโปร่งใส และเป็นอิสระมากขึ้น
- ควรกำหนดให้มีการปรับปรุงข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนฉบับมาตรฐาน (BIT Model) โดยจะต้องเน้นสิทธิของรัฐในการกำกับดูแลในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชน ต่อโครงการต่างๆ
- ควรกำหนดให้การจัดจ้างหน่วยงานที่ทำ EIA / EHIA / HRDD เป็นหน่วยงานที่เป็นกลางและอิสระ พ้นจากการครอบงำของรัฐและธุรกิจโดยเฉพาะเจ้าของโครงการที่จะต้องจัดทำ
- ควรออกมาตรการเชิงบังคับให้ธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องให้ความสำคัญ เคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลห่วงโซ่อุปทาน การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
- ควรออกมาตรการหรือกฎหมายที่กำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศ และต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
- ควรมีการกำหนดมาตรการหรือกฎหมายให้มีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลตรวจสอบ การจัดทำแบบ ๕๖-๑ หรือ One-Report ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนมีการจัดทำ แบบ ๕๖-๑ หรือ One-Report ซึ่งจะมีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการลงทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยมีการกำหนดให้เป็นสภาพบังคับแล้วตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา ซึ่งคิดว่า One-Report หรือ Human Rights Due Diligence โดยตรวจสอบว่า ที่บริษัททำรายงานต่างๆเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งด้านสิ่งแวดล้อม มีความโปร่งใส จริงตามที่เขียนหรือไม่ โดยควรมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ หรือ Third party เข้ามาจัดทำ หรือ ตรวจสอบติดตามในส่วนนี้ด้วย เพื่อความเป็นอิสระและปลอดพ้นจากการครอบงำ
- ควรมีมาตรการหรือกฎหมายที่กำหนดให้ธนาคารผู้ให้สินเชื่อ บริษัทผู้ลงทุน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการใดที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ต้องจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและเยียวยา” ก่อนที่จะดำเนินโครงการ โดยควรระบุให้ชัดเจนว่า เป็นจำนวนเท่าไหร่ที่บริษัท เพื่อเป็นการรับประกันการลงทุนและความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ในระหว่างการริเริ่มการลงทุนหรือดำเนินโครงการ โดยกองทุนนั้นต้องมีสัดส่วนเหมาะสมและสมเหตุสมผล
- ควรกำหนดให้สถาบันการเงินหรือธนาคาร ตลอดทั้งบริษัทเอกชน มีกลไกรับข้อร้องเรียนในปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ไม่เป็นภาระแก่ผู้ถูกกระทำละเมิดในการเข้าถึงการเยียวยา
- ควรกำหนดให้มีการจัดทำ Trans-boundary SEA and Human Rights Due Diligence เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินการลงทุนและการตัดสินใจอย่างรอบด้าน
- ควรกำหนดให้มีมาตรการที่เป็นการเชิญชุมชนผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Meaningful Participation) ในการดำเนินการจัดทำ EEC โดยไม่ควรเป็นลักษณะการหารือผลกระทบกับประชาชนโดยไม่รอบด้าน
- ควรมีการกำหนดมาตรการหรือออกกฎหมายว่าด้วยการชดเชยเยียวยา เวลาที่บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ หรือต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย บริษัทที่เป็นเจ้าของเงินในกรณีที่รัฐบาลไทยมีกองทุน หรือเงินกู้ยืมให้ลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่ ประเทศไทยควรใช้มาตรฐานสากล หรือใช้กฎหมายของประเทศบริษัทต้นทางที่ให้สินเชื่อหรือเป็นผู้ลงทุน และควรมีมาตรการกำหนดให้ได้รับการชดเชยเยียวยาที่ได้มาตรฐาน และพึงพอใจกับทุกฝ่าย ควรใช้มาตรฐานสากลในการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม
- ควรกำหนดให้รัฐพิจารณาให้มี นโยบาย “No Go Zone” ระงับการให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนขนาดใหญ่ และไม่ให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยหรือรัฐวิสาหกิจไทยเข้าไปลงทุนเมื่อประเทศหรือพื้นที่ที่รับการลงทุนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่อมนุษยชาติ ตัวอย่างเช่นในกรณีของเมียนมาหลังการรัฐประหาร และในกรณีบริษัทที่ลงทุนไปแล้ว ต้องมีการกำหนดการประเมินผลกระทบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีข้อกำหนดของบริษัทในการพิจารณาการชะลอการทำธุรกิจ ส่วนกรณีบริษัทที่จะลงทุนใหม่จะต้องมีการพิจารณาให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจไทยเข้าไปพัวพันหรือหนุนเสริมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงดังกล่าวเพิ่มเติม
- ควรออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งปละพาณิชย์ ให้สอบรับการการก่อให้เกิดความรับผิดชอบของเอกชนไทยทั้งจะโดยประชาชนไทยหรือบริษัทในประเทศไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ในต่างประเทศหรือบริษัทสาขา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเข้าถึงการเยียวยาอย่างแท้จริง และกำหนดให้นำเอามาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่มีในกฎหมายไทยนำไปใช้ในประเทศที่มีการลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดวาทะกรรมการลงทุนข้ามพรมแดนแต่ความรับผิดชอบไม่ข้ามพรมแดน
- ขอให้รัฐไทยสนับสนุนการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของการลงทุนข้ามชาติ บรรษัทข้ามชาติ และองค์การภาคธุรกิจ ที่สหประชาชาติกำลังดำเนินการจัดทำร่าง ด้วยการส่งเสริมภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำปฏิญญาสากลดังกล่าว
0 comments on ““ETOs Watch” ยื่น 15 ข้อเสนอะแนะ หวัง “NAP 2” ดีขึ้นจากแผนหนึ่ง”