โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี รัฐกะเหรี่ยง
โครงการเขื่อนฮัตจี เป็น 1 ใน 4 เขื่อน ของแผนพลังงานไฟฟ้าโครงการเขื่อนสาละวินที่ทางรัฐบาลไทยมีแผนจะก่อสร้าง โดยอีก 3 เขื่อน คือ เขื่อนท่าซาง/มายตง, เขื่อนตากวิน และเขื่อนเว่ยจี โครงการเขื่อนฮัตจี เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-off-river) กั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำสาละวิน ประมาณ 47 กิโลเมตร มีระดับเก็บกักปกติที่ 48 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนได้ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนมีความสูง 115 เมตร และกว้าง 1,127.20 เมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีได้ 7,325 ล้านหน่วย โดยจะขายไฟฟ้าให้ไทยซึ่งรับซื้อโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นจำนวน 1,190 เมกะวัตต์ ที่เหลือใช้ในประเทศพม่า โดยลำเลียงกระแสไฟฟ้าผ่านสายส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนฮัตจีมายังชายแดนไทยทางด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และจากจุดดังกล่าวเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงพิษณุโลก 3 ในระยะทาง 300 กิโลเมตร โดยรวมแล้วโครงการเขื่อนฮัตจีมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี 3 เดือน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 57 – 68”
http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ นอกเมืองทวาย ภาคตะนาวศรี เป็นโครงการขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเมียนมา ทั้งในมิติของพื้นที่และการลงทุน ด้วยพื้นที่เริ่มต้นโครงการที่ครอบคลุมประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร และมูลค่าการลงทุนมากกว่า 300,000 ล้านบาท ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมทุกประเภท เช่น ปิโตรเคมี โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เส้นทางเชื่อมโยงมายังประเทศไทย (ได้แก่ ถนน รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน สายไฟฟ้าแรงสูง) และอ่างเก็บน้ำ โดยการคาดการณ์ว่าจะมีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายโอนสินค้า บริการ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างมหาศาล รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้” (Southern Economic Corridor)
โครงการท่าเรือน้ำลึกละเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไกลออกไปจากตัวเมืองทวายราว 20 กิโลเมตร อยู่ติดกับทะเลอันดามัน และอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนในภาคตะนาวศรี โดยสามารถแบ่งพื้นที่โครงการและโครงการที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) หมู่บ้านในพื้นที่ราบลุ่ม: พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก (ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ) และพื้นที่ใกล้เคียง 2) หมู่บ้านในพื้นที่สูง (พื้นที่ถนนเชื่อมต่อ) และ 3) หมู่บ้านกาโลนท่า (พื้นที่อ่างเก็บน้ำ)
รายงานของสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) คาดการณ์ว่าในระยะเริ่มต้นของโครงการนี้มี ประชากรกว่า 43,000 คน ใน 36 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น อ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) และการสร้างถนนเชื่อมต่อ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 69 – 84”
(แนบไฟล์รายงาน ชื่อ ETOs Book_web)http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเย รัฐมอญ
โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขตเย ห่างจากตัวเมือง 16 กิโลเมตร ห่างจากถนนหลวงสายหลักหมายเลข 8 เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร ทางตะวันตกติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่เกษตร ส่วนตะวันออกเฉียงใต้มีภูเขาและพื้นที่เกษตร บริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ในรัศมี 0.5-1 กิโลเมตรของพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมีหมู่บ้าน 1 หมู่บ้าน (หมู่บ้านอันแตง) และลำธาร 1 สาย
โรงไฟฟ้าถ่านหินจะใช้พื้นที่ประมาณ 1,500,000 ตารางเมตร (937.5 ไร่) ท่าเทียบเรือจะอยู่ห่างจากตัวโรงไฟฟ้าออกไปในทะเลประมาณ 3-5 กิโลเมตร สามารถรองรับเรือขนาด 75,000 เดทเวตตัน (DWT) และใช้สายพานในการป้อนถ่านหินส่งโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้านี้จะใช้ถ่านหินประเภทซุปเปอร์อัลตร้าคริติคัล มีกำลังผลิต 1,280 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหิน 3.5-4.5 ล้านตันต่อปี นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียร้อยละ 60 ประเทศออสเตรเลียร้อยละ 20 และประเทศแอฟริกาใต้ร้อยละ 20 มีระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 47 เดือน ต้องใช้คนงานระหว่างการก่อสร้างจำนวน 3,850 คน และใช้น้ำระหว่างการก่อสร้าง 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าจะใช้น้ำทะเลที่กลั่นแล้วประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และจะใช้น้ำฉีด 960 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจายที่ลานถ่านหิน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 85 – 98”
(แนบไฟล์รายงาน ชื่อ ETOs Book_web)http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เมืองมยิตตา ภูมิภาคตะนาวศรี
เหมืองเฮงดา (Heinda Mine) เหมืองแร่ดีบุกขนาดใหญ่และมีอายุเก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำตะนาวศรีตอนบน ตำบลเฮงดา เมืองมยิตตา (Myitta) จังหวัดทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศเมียนมา โดยเหมืองแห่งนี้มีพื้นที่สัมปทานประมาณ 5,000 ไร่ หรือราว 2,097 เอเคอร์
เหมืองเฮงดาตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านเมียวพิว ห่างเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น โดยหมู่บ้านดังกล่าวมีลำคลองที่สำคัญ ซึ่งมีชื่อเดียวกับหมู่บ้าน คือ คลองเมียวพิว มีปลายทางคือแม่น้ำตะนาวศรีอันเป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคของชาวบ้านที่อยู่ในแคว้นตะนาวศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวทวาย อย่างไรก็ตาม คลองเมียวพิวไม่ได้ไหลผ่านหมู่บ้านเมียวพิวเท่านั้น แต่ยังไหลผ่านอีกอย่างน้อย 30 หมู่บ้าน ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำตะนาวศรีและออกสู่ทะเลอันดามันในที่สุด
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่น ทำสวนทุเรียน หมาก มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ และยางพารา ชาวบ้านบางส่วนปลูกผักเพื่อขาย บางครัวเรือนร่อนหาแร่ตะกั่วในแม่น้ำตะนาวศรีเป็นอาชีพเสริม ชาวบ้านได้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายปี โดยชาวบ้านประมาณ 40-50 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ประกอบอาชีพการหาแร่ในแม่น้ำซึ่งเป็นตะกอนที่ไหลมาจากเหมืองเฮงดา และผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนมากไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่เมืองไทย
หมู่บ้านเมียวพิว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เหมืองเฮงดามากที่สุดนั้น มีประชากรราว 500 คน มีจำนวนครัวเรือนราว 100 ครัวเรือน ชาวบ้านที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทวายที่มีอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ซึ่งชาวบ้านที่นี่ไม่ได้จัดให้ตนเองเป็นคนกลุ่มย่อยของชาวพม่าดังที่ทางการเมียนมาจัดกลุ่มไว้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 99- 106”
(แนบไฟล์รายงาน ชื่อ ETOs Book_web)http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง เมืองทวาย ภูมิภาคตะนาวศรี
เหมืองบานชอง เป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิด โดยทางรัฐบาลเมียนมาให้สัมปทานพื้นที่ทำเหมืองราว 1,500 เอเคอร์ แก่บริษัท May Flower Enterprise Co, ltd. เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในเมียนมา ในเวลาต่อมาทางบริษัท อีสสตาร์ จำกัด จากไทยได้รับอนุญาตจาก KNU ให้เข้ามีส่วนร่วมในโครงการด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทอีสตาร์มีพื้นที่การทำเหมืองและเปิดหน้าดินเพื่อขุดเหมืองไปแล้วกว่า 64 เอเคอร์ จากพื้นที่รวมทั้งหมดราว 2,100 เอเคอร์ ที่บริษัท May Flower Enterprise Co, ltd ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า นอกจากนี้ในเอกสารที่เผยแพร่โดยองค์กรพัฒนาเอกชน ชื่อ Inclusive Development International อ้างว่ามีรายงานว่าแม้บริษัท May Flower Enterprise Co, ltd. จะเป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้ แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ดังนั้นบริษัท อีสสตาร์ จึงเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาโครงการนี้ โดยมีบริษัท Thai Asset Mining เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมขนส่งถ่านหิน และมีผู้สนับสนุนทางการเงินในการดำเนินการขุดแร่และการจัดส่งถ่านหินไปยังเครือข่ายของผู้ซื้อของตน คือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน)
จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงตากาปอว์ (Takapaw Youth Group) และสมาคมพัฒนาทวาย ระบุว่าหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งสิ้น 22 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 16,000 คน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 107 – 115”
(แนบไฟล์รายงาน ชื่อ ETOs Book_web)http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเมาะลัมใย รัฐมอญ
โรงงานปูนซิเมนต์ ที่เมืองไจมียอ (Kyaikmayaw Township) รัฐมอญ มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี โดยจะเริ่มการผลิตได้ตั้งแต่ปี 2559 ประมาณ 5,000 ตันต่อวันภายในโรงงานปูนซิเมนต์ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 40 เมกะวัตต์เป็นแหล่งผลิตกระไฟฟ้าหลัก และมีการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนเหลือทิ้ง (Waste Heat Generator) 9 เมกะวัตต์ พื้นที่ภูเขาหินปูน อันเป็นแหล่งวัตถุดิบ คือ ภูเขาพะยาตา (Pyar Taung) ซึ่งประมาณว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับที่มีปริมาณมากถึง 90 ล้านตัน เส้นทางขนส่งถ่านหิน, ปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง คือ แม่น้ำอัตถะรัน เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร และเชื่อมกับโรงงานด้วยคลองขุดใหม่ ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 60 เมตร
นับตั้งแต่มีการจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและแหล่งน้ำของ 8 หมู่บ้านในพื้นที่สัมปทานโรงงานปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งรวมถึงภูเขา ป่าไม้ ที่นา แม่น้ำอัตถะรัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 116 – 129”
(แนบไฟล์รายงาน ชื่อ ETOs Book_web)http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf