Cabinet Resolution

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 รับทราบผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

  • รับทราบรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ที่มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวทวาย โดยคณะรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรจัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา [United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : Implementing the Protect, Respect, Remedy Framework (2011)] มาเป็นกรอบในการดำเนินการ
  • มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 รับทราบผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบาย เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีการดำเนินงานของบริษัท น้ำตาลมิตรผล ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่สำโรง (Samrong) และจงกัลป์ (Chongkal) ในจังหวัดโอดอร์เมียนเจย (Oddar Meanchey) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

  • รับทราบข้อเสนอแนะ เรื่อง สิทธิมนุษยชน กรณีการดำเนินงานของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อำเภอสำโรง (Samrong) และจงกัล (Chongkal) ในจังหวัดโอดอร์ เมียนเจย (Oddar Meanchey) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกหรือกำหนดภารกิจการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทยให้เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การปฏิบัติตามกรอบการคุ้มครอง เคารพ เยียวยา [United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : Implementing the Protect, Respect, Remedy Framework (2554)] มาเป็นกรอบในการดำเนินการ
  • มอบให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป