UNGP and NAP

UNGP และ NAP

UNGP คืออะไร?

หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) เป็นหลักการที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากธุรกิจ โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้ภาครัฐและธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบ โดยกำหนดให้ภาครัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการถูกละเมิดโดยการประกอบธุรกิจ ส่วนภาคธุรกิจมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกำหนดให้มีการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายต่อสิทธิของประชาชน

ดังนั้น หลักการ UNGP จึงเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมสามารถใช้อ้างอิงร่วมกันได้เพื่อประกันว่าการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน มีความรับผิดชอบและดำเนินการอย่างเหมาะสมที่จะหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดผลกระทบ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการละเมิด การลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น และมีการเยียวยาความเสียหายอย่างมีประสิทธิผล อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกันในสังคม ต่อองค์กรด้านธุรกิจในสายตาของผู้มีส่วนได้เสีย และต่อประเทศในสายตาประชาคมโลก

ประวัติศาสตร์ของ UNGP

หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลักการรักกี้” (Ruggie Principles) หรือ “กรอบรักกี้” (Ruggie Framework) เนื่องจากหลักการนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย ดร. จอห์น รักกี้ (Dr. John Ruggie) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีได้รับการรับรองและประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 (2011) ซึ่งใช้เวลาในการจัดทำและออกแบบหลักการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 6ปี นับตั้งแต่ปี 2548 (2005)เท่ากับว่าในขณะนี้หลักการ UNGP ถูกนำมาใช้แล้วเป็นเวลากว่า 8 ปี (2562)

ภายใต้กลไกของสหประชาชาติ หลักการ UNGP และการผลักดันเกี่ยวกับประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนนั้น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: UNHRC)ได้มีการจัดตั้งกลไกคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งในปีเดียวกับที่มีการประกาศใช้หลักการดังกล่าว นั่นคือ “คณะทำงานว่าด้วยปัญหาสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น” (Working Group on the Issue of Human Rights and Transnational Corporations and Other Business Enterprises) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (Working Group on Business and Human Rights: WG on B-HR)

คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ 5 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี คณะทำงานฯ ชุดปัจจุบัน (2562) เป็นชุดที่ 2 นับจากที่มาการนำหลักการ UNGP มาใช้และมีการจัดตั้ง ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้

Mr. Surya Deva

Mrs. Elzbieta Karska

Mr. Dante Pesce

Mr. Githu Muigai

Mrs. Anita Ramasastry

ในแง่ของอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ นั้น มีหน้าที่ในการส่งเสริมการเผยแพร่การดำเนินตาหลักการ UNGP ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดีและบทเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักการ UNGP  ให้การสนับสนุนความพยายามและความต้องการที่จะพัฒนาขีดความสามารถในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศในการนำหลักการ UNGP ไปใช้ ทั้งในเชิงปฏิบัติการพัฒนาข้อกฎหมายและนโยบายให้สอดรับกับหลักการ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในการจัดเวทีหรือ forum เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน   

สาระสำคัญและหลักการ 3 เสาหลัก

หลักการ UNGP วางอยู่บนสามเสาหลัก ที่กำหนดให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ประกอบด้วย

เสาหลักที่ 1 คุ้มครอง (Protect): รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครอง มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจากองค์กรของรัฐ องค์กรที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรภาคธุรกิจเอกชน โดยหน้าที่ในการคุ้มครองของรัฐมี 4 ประการ 1) การบังคับใช้กฎหมาย 2) การประกันว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจะต้องไม่เป็นอุปสรรคและต้องส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน 3) การจัดให้มีแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และ 4) การสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจมีวิธีการรับมือกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

เสาหลักที่ 2 เคารพ (Respect): การเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงบุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ต้องดำเนินการกิจการอย่างมีความรับผิดชอบ เคารพและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจต้องมีการผูกพันในนโยบาย (Policy Commitment) และต้องมีการเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง (Human Rights Due Diligence) ตลอดจนการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessment) ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้องค์กรธุรกิจต้องมีการประเมินความเสี่ยงภัยด้านสิทธิมนุษยชน การจัดทำตัวชี้วัด การประเมินผลสัมฤทธิ์ การจัดทำรายงาน การเปิดเผยข้อมูลให้สามารถเข้าถึงได้อย่างโปร่งใส  

เสาหลักที่ 3 เยียวยา (Remedy): การเยียวยา แก้ไข ฟื้นฟู และชดเชยเมื่อเกิดผลกระทบหรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ โดยภาครัฐและภาคเอกชนมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบในส่วนนี้ กล่าวคือ รัฐจะต้องจัดให้มีการเยียวยาที่เหมาะสม ทั้งโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมหรือนอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรม และให้องค์กรธุรกิจจัดให้มีช่องทางในการร้องเรียนและเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลักการ UNGP ไม่ใช่ตราสารระหว่างประเทศ ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมายแต่เป็นแนวปฏิบัติที่ภาคธุรกิจจะนำไปใช้โดยสมัครใจ

UNGP และ NAP ในไทย

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยได้รับเอาหลักการ UNGP มาปรับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อราวปี 2559 หลังจากที่ตัวแทนของรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจในเวทีประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตามกระบวนการ UPR (Universal Periodic Review) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ต่อคณะผู้แทนของประเทศสวีเดนที่เสนอให้นำหลักการ UNGP ไปปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ NAP (National Action Plan on Business and Human Rights) กระบวนการจัดทำ NAP จึงได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนดังกล่าวคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่ถูกระบุถึงในมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการทวายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99319369&key_word=%B7%C7%D2%C2&owner_dep=&meet_date_dd=&meet_date_mm=&meet_date_yyyy=&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=)

NAP คืออะไร

ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักก่อนว่า “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (NAP) นั้น คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

อย่างที่อธิบายไปบางส่วนแล้วข้างต้น NAP คือ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน อันเป็นเครื่องมือที่มาพร้อมกับหลักการ UNGP หลังจากที่ประเทศนั้น ๆ ประกาศคำมั่นโดยสมัครใจในการรับหลักการ UNGP แล้ว กล่าวคือ NAP คือ เครื่องมือที่จะเป็นเครื่องยืนยันในการนำหลักการ UNGP ไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีข้อกำหนดว่าแผนที่ NAP ที่นำไปปฏิบัติใช้นั้นจะต้องมีกระบวนการ National Baseline Study กล่าวคือต้องมีการศึกษา วิเคราะห์ ประเมินช่องว่าง ระหว่างหลักการ UNGP และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงภายในประเทศนั้น ๆ ที่ทำการจัดทำ NAP และที่สำคัญอย่างยิ่ง จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือ และความมีประสิทธิภาพของแผน NAP ที่จะเกิดขึ้นและนำไปใช้จริง

ในแง่ระยะเวลาของการนำแผน NAP ไปใช้นั้น โดยส่วนมากแล้วจะมีระยะเวลาประมาณ 5 ปี สำหรับประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการนำแผน NAP ไปใช้ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2562 – 2566  

ในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ นั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและสร้างกระบวนการในการจัดทำแผนดังกล่าว โดยเริ่มกระบวนการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2559 หลังจากที่มีการระบุหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิในการเป็นผู้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติใน “มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องโครงการทวาย และธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เห็นได้จากการที่ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ พยายามสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในหลายภาคส่วน รวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมผ่านการจัดเวทีเสวนาและการจัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

แต่เหตุการณ์ที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางจัดทำ ติดตาม และประเมินผลตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 557/2559 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  16 พฤษภาคม 2559 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ในเวลาต่อมาคณะกรรมการนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ผู้แทนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย ตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 89/2561 โดยในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ นี้มี ศ. ดร. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช เป็นผู้ร่างในเบื้องต้น โดยร่างแผนปฏิบัติการระดับชาตินี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้งและถูกนำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการ การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน (ปี 2563) ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก็ได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จนเสร็จสิ้นแล้ว และทางคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติประกาศใช้แผนดังกล่าวในชื่อ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565)” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาและสาระสำคัญภายในแผนให้ความสำคัญต่อประเด็นเร่งด่วน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แรงงาน 2) ที่ดิน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ แผน NAP ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อธันวาคม 2562 และไทยเองก็เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติและนำมาใช้แล้วอย่างเป็นทางการ

กระแสของการจัดทำ NAP ทั่วโลก

แม้ในปัจจุบัน แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่นับเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง ก็ยังไม่มีประเทศใดที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ ของตนเอง ดังนั้น การพยายามผลักดันให้เกิดแผนดังกล่าวนับเป็นสัญญาณและหมุดหมายที่ดี กอปรกับในประเทศอื่น ๆ ของอาเซียนเองก็มีความตั้งใจที่จะนำหลักการ UNGP มาปรับใช้ และในบางประเทศก็อยู่ในขั้นตอนในการจัดทำแผน NAP เช่นกัน

ในปัจจุบัน มีประเทศที่รับหลักการ UNGP และจัดทำ NAP ไปแล้ว จนสามารถนำแผนมาใช้ได้แล้ว ทั้งสิ้น จำนวน 21 ประเทศ ได้แก่

                1. สหราชอาณาจักร (เป็นประเทศแรกที่จัดทำ ตีพิมพ์ และนำไปใช้)

                2. เนเธอแลนด์

                3. เบลเยียม

                4. ไอร์แลนด์

                5. นอร์เวย์

                6. สวีเดน

                7. ฟินแลนด์

                8. เดนมาร์ก

                9. ฝรั่งเศส

                10. สเปน

                11. เยอรมนี

                12. เช็ก

                13. โปแลนด์

                14. ลิธัวเนีย

                15. สโลวีเนีย

                16. สวิสเซอร์แลนด์

                17. จอร์เจีย

                18. สหรัฐอเมริกา

                19. โคลอมเบีย

                20. ชิลี

                21. เกาหลีใต้

และมีจำนวน 13 ประเทศ ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการจัดทำและพัฒนาแผน NAP ได้แก่

                1. ยูเครน

                2. โมรอกโก

                3. ไลบีเรีย

                4. เคนยา

                5. เม็กซิโก

                6. ฮอนดูรัส

                7. เปรู

                8. อาร์เจนตินา

                9. อินเดีย

                10. ญี่ปุ่น

                11. อินโดนีเซีย

                12. มาเลเซีย

                13. ไทย

จะสังเกตเห็นได้ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่มีการจัดทำแผน NAP และนำมาใช้แล้วนั้น เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD 

ETO Watch Coalition กับการผลักดัน NAP

ในส่วนของการทำงานของ ETO Watch Coalition ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ NAP ในประเทศไทยนั้น เราริเริ่มจากเป้าหมายตั้งต้นของเราที่ต้องการให้เกิดกลไกการกำกับดูแลธุรกิจต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุด โดยการใช้หลักไมล์สำคัญในการเขยื้อน คือ การใข้มติคณะรัฐมนตรีทวาย หรือ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนับเป็นมติแรกที่ระบุถึงการให้ความสำคัญต่อธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง และอื่น ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดธรรมาภิบาลการลงทุนในต่างประเทศทั้งในธุรกิจที่ดำเนินการโดยรัฐและธุรกิจเอกชน  ไม่เฉพาะเพียงโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเท่านั้นที่จะต้องได้รับการแก้ไข แต่ยังรวมถึงภาพรวมของประเด็นธุรกิจแลสิทธิมนุษยชนด้วย โดยในมติดังกล่าวยังอ้างถึงการนำหลัก UNGP มาใช้ รวมถึงการจัดทำแผน NAP ด้วยซึ่งก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจไว้

ETO Watch Coalition ให้ความสำคัญกับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการทวาย เป็นอย่างมาก โดยในปี 2560 เป็นปีแรกที่เราเริ่มขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ในเดือนกันยายน ปีดังกล่าว ETO Watch Coalition ร่วมกับคณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร จัดการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย อันเนื่องมาจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 โดยมีหน่วยงานตามมติคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมชี้แจงผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี โดยในการชี้แจงดังกล่าวพบว่ายังไม่มีการทำงานเชิงรูปธรรมในการวางแผนเพื่อจัดตั้งกลไกกำกับดูแลการลงทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้รับหน้าที่จากทางรัฐบาลให้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ NAP แล้ว พร้อมกันนี้ในเวทีการประชุมในครั้งนี้ ETO Watch Coalition ยังได้นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยใน 12 โครงการ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขงให้ตัวแทนนักวิชาการและหน่วยงานที่มาในวันนั้นรับทราบและเรียนรู้ถึงปัญหาดังกล่าวด้วย นับได้ว่าเป็นก้าวแรก ๆ ที่สำคัญในการนำประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนเข้าสู่ความสนใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะบรรจุปัญหานี้ลงไปในแผนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน

ต่อมาการทำงานผลักดันให้เกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติและให้ความสำคัญต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนของ ETO Watch Coalition ก็ได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการเยือนประเทศไทยของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ UN Working Group on Business and Human Rights ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายน 2561 โดยในวันที่ 28 มีนาคม 2561 ทางองค์กรภายในเครือข่าย ETO Watch Coalition และองค์กรภาคประชาสังคมในประเด็นต่าง ๆ เช่น แรงงาน การค้าบริการทางเพศ การค้ามนุษย์ สิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ ได้เข้าพบปะหารือกับทางคณะทำงาน ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาคธุรกิจและรัฐในประเด็นต่าง ๆ โดยทางองค์กรภายในเครือข่าย ETO Watch Coalition ได้นำเสนอในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจและภาครัฐวิสาหกิจไทย โดยมีการนำเสนอให้เห็นภาพรวมการลงทุนในต่างประเทศ ยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักการ UNGP มาใช้ รูปแบบการละเมิดกสิทธิมนุษยชนของผู้ลงทุน และนำเสนอข้อเสนอแนะผ่านคณะทำงานฯ ไปยังรัฐบาลไทย โดยหนึ่งใสข้อเสนอแนะนั้นคือการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานจัดทำ NAP บรรจุประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนจากการลงทุนข้ามชาติเข้าไปด้วย ซึ่งในวันที่ 4 เมษายน 2561 ทางคณะทำงานฯ ได้สรุปผลการเยือนประเทศไทยและข้อเสนอแนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้หลังจากที่มีการพบปะ แลกเปลี่ยน ถกเถียงในเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในทั้งสามภาคส่วน คือ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน โดยเนื้อหาของข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ ได้มีการเสนอให้ภาคธุรกิจไทย รวมถึงรัฐวิสาหกิจต้องตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนลูกจ้าง รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการฟ้องปิดปากประชาสังคม ตลอดจนเปิดพื้นที่ชุมนุมอย่างสันติ ไปจนถึงให้มีการปรับกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนผู้รับผลกระทบมีส่วนร่วมและพลังในการต่อรองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้นำการละเมิดสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ การค้าบริการทางเพศ สิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ การละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยภาครัฐและภาคธุรกิจ ตลอดจนการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน มาพิจารณาในการจัดทำแผน NAP ในอนาคต

หลังจากที่การเยือนของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนผ่านไปราว 4 เดือน ในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในระดับสากล ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมกันจัดการประชุม “บทบาทของภาคประชาสังคมต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผน NAP และร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยน ถกเถียง และนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำแผน NAP ในอนาคต โดยภายในการประชุมดังกล่าวได้มีการเปิดเผยร่างของแผน NAP ที่จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยภายในร่างแผนดังกล่าวได้ระบุถึงประเด็นเร่งด่วน 4 ประเด็น หนึ่งในนั้นคือประเด็นการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (สิทธิแรงงาน, สิทธิชุมชน/สิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ) นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการได้รับการรับรองจากรัฐในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ตาม ภายในงานได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างแผนนี้ค่อนข้างมาก ไม่แต่พียงเนื้อหาในร่างแผนที่ยังไม่ครอบคลุมและครบถ้วน แต่กระบวนการจัดทำแผนดังกล่าวยังนับว่าภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอยู่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากว่าร่างแผนนี้ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกภายในงาน และองค์กรภาคประชาสังคมหลายส่วนบังไม่เคยมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนมาก่อน อีกทั้งมีกำหนดการในการประกาศใช้แผน NAP  ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งนับว่ากระชั้นชิดเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการยืดระยะเวลาในการประกาศใช้แผน NAP ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนและเพิ่มเติมหรือปรับปรุงเนื้อหาภายในแผนอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการมากที่สุด

โดยในเวลาต่อมาภาคประชาสังคมได้มีการจัดกระบวนการเพื่อให้ความเห็นต่อร่างแผน NAP อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการเปิดแผนร่างแผนล่าสุดออกมานอกเหนือจากบนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ภายในการประชุมจัดเวที “ความจำเป็นในการประกาศและบังคับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” จัดโดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งมีองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเกือบ 40 องค์กร โดยทาง ETO Watch Coalition เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างแผนล่าสุดในแง่มุมทางกฎหมายว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายผลกระทบข้ามพรมแดน หรือกฎหมายที่กำกับกับการจัดการผลกระทบข้ามพรมแดนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายอื่นๆ พร้องทั้งให้ความเห็นว่าในแผนยังไม่มีการกำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการและกฎหมายบังคับให้บริษัทและภาคเอกชนในการจัดตั้งกองทุนความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการลงทุนของภาคเอกชนไทยข้ามพรมแดน หรือก่อตั้งองค์กรเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิข้าพรมแดน เช่น OECD

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผน NAP ของประเทศไทยจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในปัจจุบันแผนดังกล่าวก็ผ่านการใช้งานมาหนึ่งปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในเชิงกลไกและการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากนัก คงต้องมีการติดตามเชิงรุกอย่างกันต่อไปอย่างใกล้ชิดกับสถาบัน องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน