โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 1,931 นับจากปากแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่เหนืออำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ประมาณ 200 กิโลเมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง และขนาด 60 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง) ผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 7,370 ล้านหน่วย โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย-ลาว จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ (จากหน่วยผลิตไฟฟ้า 7×175 เมกะวัตต์) เป็นเวลา 31 ปี มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.15 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี โดยเริ่มก่อสร้างแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 และจะเริ่มดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2562
ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (Xayaburi Power Company Limited: XPCL) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ในปี 2562 โดย กฟผ. มีหน้าที่ต้องก่อสร้างสายส่งภายในประเทศไทยให้เสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ตัวเขื่อนมีระดับเก็บกักน้ำสูงสุดเท่ากับ 275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำเท่ากับ 49 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,625 ไร่ อ่างเก็บน้ำมีความยาว 90 กิโลเมตร และมีความจุ 726.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำใช้งานกับ 211.97 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำตายเท่ากับ 514.05 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อผลิตไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีจะระบายน้ำสูงสุด 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีการออกแบบให้สามารถระบายตะกอนทรายในช่วงฤดูแล้งได้ในอัตรา 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 29 – 40”
http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง แขวงอุดมไซย
โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง กิโลเมตรที่ 2188 ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตรในแม่น้ำโขง โดยระยะห่างของเขื่อนปากแบงกับประเทศไทย คือ เขื่อนจะก่อสร้างลงไปทางใต้ของแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ระยะห่างประมาณ 97 กิโลเมตร ห่างจากปากแม่น้ำงาวประมาณ 105 กิโลเมตร ห่างจากปากแม่น้ำอิงประมาณ 115 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเชียงของประมาณ 125 กิโลเมตร คาดว่าภายในปี 2565 จะสามารถทดลองเดินเครื่องปั่นไฟ 2 หน่วยแรก และ ปี 2566 จะสามารถเดินเครื่องได้ครบทั้ง 16 หน่วย ไฟฟ้าที่ผลิตได้ราว 90% จะส่งขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวนที่เหลือจะใช้ภายในประเทศ โดยทางการลาวได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับ กลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ในเดือน สิงหาคม 2550 เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการปากแบง และ เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่นั้น ผลการสำรวจศึกษาเบื้องต้นได้รับอนุมัติจากรัฐบาลลาวในเดือนมกราคม 2557 มีอายุสัมปทาน 30 ปี รวมระยะเวลาของการก่อสร้างโครงการ
การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ถาวร ชุมชนในประเทศลาวอย่างน้อย 14 หมู่บ้านที่ทำการเกษตร ต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูงเพื่อหาที่ทำกินใหม่ ทำลายทรัพยากรเพิ่มและใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น ส่วนผลกระทบต่อการประมงและพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงนั้น เขื่อนจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาอย่างถาวร ตลอดจนทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของปลาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด นอกจากนั้นแล้ว2. ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและซับซ้อนจะถูกทำลาย ทั้งเกาะแก่ง คก หรือหาดทรายจำนวนมากระหว่างเมืองปากแบงถึงเชียงของจะจมอยู่ใต้น้ำ ตะกอนดินทรายที่เป็นธาตุอาหารสำคัญของแม่น้ำโขงตอนล่างจะถูกกัก ไม่นับรวมถึงการปิดกั้นเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างเมืองห้วยทราย-หลวงพระบาง ที่ชาวบ้านมีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวกว่าล้านคนต่อปี หรือการเคลื่อนย้ายอพยพแรงงานจากลาวเข้ามายังประเทศไทยเนื่องจากสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 41 – 47”
http://library.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F09950.pdf
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี
โครงการหงสาลิกไนต์เป็นโครงการที่ประกอบด้วยโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงลิกไนต์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา ของแขวงไซยะบุรี ในประเทศลาว ห่างจากใจกลางเมืองหงสาประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทย ที่จังหวัดน่านประมาณ 30 กิโลเมตร มีพื้นที่เหมืองประมาณ 76.2 ตารางกิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใช้ความร้อน ผลิตไฟฟ้าโดยการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบ คือเขื่อนน้ำแก่นและเขื่อนน้ำเลือกจึงถูกสูบนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า
ส่วนโรงไฟฟ้าหงสาผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหินลิกไนต์ซึ่งเป็นถ่านหินประเภทที่ให้ความร้อนต่ำ โครงการหงสาลิกไนต์เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007) มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,878 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี ในสปป.ลาว โดยบริษัทหงสาพาวเวอร์ (HPC) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 1,743 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกว่า 450 หลังคาเรือนที่ขณะดำเนินการก่อสร้างไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้โดยง่ายจากการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจากโรงงานที่ปล่อยโลหะหนักเข้าสู่แหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนที่ชาวบ้านใช้ และชาวบ้านกว่า 2,000 คนต้องอพยพย้ายไปยังหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ของ บริษัท Hongsa Power Company Limited เพื่อรองรับผู้อพยพจากห่างจากตัวเมืองหงสา 8 กิโลเมตร ห่างจากโรงไฟฟ้า 12 กิโลเมตร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
“รายงานการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, หน้า 48 – 55”