คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETO Watch Coalition (Extra – Territorial Obligation Watch Coalition) คือ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมแนวราบที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มีเนื้อหาและพื้นที่การทำงานในประเด็นข้ามพรมแดนเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการจับตา ตรวจสอบและติดตาม (monitoring) การลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคพลังงาน เหมืองแร่ การสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของกลุ่มทุนไทยและกลุ่มทุนชาติอื่น ๆ ที่เข้ามา (และออกไป) ลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
เป้าหมายสำคัญของเรา คือ การยกระดับและให้ความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนของชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นไปในระดับประเทศและปัญหาการในระดับข้ามพรมแดน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่จะให้เกิดการปรับเปลี่ยนธรรมาภิบาล/บรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนในการลงทุนที่ต้องคำนึงถึง/ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำการลงทุนเป็นอันดับแรก
หลักการและเหตุผลสำคัญ รวมถึงบริบทที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์กว่าทศวรรษ เป็นสาเหตุสำคัญและปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้เรา ETO Watch Coalition มารวมตัวกัน หลักการและเหตุผล รวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่พูดถึงก็คือ ภายใต้โลกยุคโลกาภิวัตน์ของบรรษัทที่มีการขยายตัวของระบบทุนนิยมที่เอื้อให้เกิดทุนนิยมผูกขาด ไปจนกระทั่งการขยายตัวของทุนและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลที่เบียดขับทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งนี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ประชาชนกำลังประสบพบเจอกับปัญหาเดียวกันนี้
สำหรับในบริบทภายในภูมิภาคอาเซียนและของไทยเอง ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจของไทยเติบโตเป็นอย่างมาก มีการขยายธุรกิจและฐานการผลิตของนักธุรกิจไทยและแม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจไทยออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยปัจจัยผลักจากภายในประเทศไทย หลายประการ เช่น ความเข้มแข็งของประชาสังคม กฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มีเข้มแข็ง ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ทรัพยากรภายในประเทศที่ลดต่ำลง และปัจจัยดึงดูดจากภายนอกหรือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การปกครองที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลหรือมีลักษณะอำนาจนิยม ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ กฎหมายที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนอย่างมหาศาลและมีการผ่อนปรนระดับสูง ค่าจ้างแรงงานต่ำ โดยธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยที่ออกไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศนั้น ๆ เช่น ธุรกิจภาคพลังงาน เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจสัมปทานที่ดินขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอื่น ๆ ในการที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่จำนวนมากในการประกอบธุรกิจ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจเหล่านี้จะกระทบกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของคนในพื้นที่นั้น ๆ
ด้วยเหตุนี้ ETO Watch Coalition จึงเกิดขึ้นจากภาคส่วนประชาสังคมต่าง ๆ ทำงานติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนมารวมตัวกัน เพื่อทำให้เป้าหมายดังที่กล่าวไปข้างต้นบรรลุผลให้ได้ โดยอาศัยความถนัดในด้านการทำงานที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสานพลังร่วมกันภายใต้เครือข่ายนี้
คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETO Watch Coalition ก่อตั้งขึ้นราวปลายปี 2559 อย่างไม่เป็นทางการจากกลุ่มองค์กรที่ให้ความสำคัญและติดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ที่ว่าด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนข้ามพรมแดน ที่เกิดจากการลงทุนของภาครัฐและบริษัทเอกชนไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการร้องเรียนขององค์กรภาคประชาสังคมไทยและเมียนมาที่ติดตามโครงการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยเพื่อให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรในโครงการดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ทำการตรวจสอบโครงการดังกล่าว แล้วมีรายงานและข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี จนในท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ทาง ETOs Watch Coalition ก็ได้เริ่มขยายความสนใจ รวมทั้งการจับตาและติดตามในกรณีศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภายหลังได้นำเอาประเด็นหรือกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่องค์กรเครือข่ายติดตามอยู่แล้วในระยะเวลาหนึ่งมาเป็นประเด็นขับเคลื่อนร่วมกัน รวมทั้งสิ้น 12 กรณีศึกษาใน 3 ประเทศ ได้แก่ ในส่วนของประเทศเมียนมา ประกอบด้วย กรณีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี, กรณีโรงปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมาะลัมใย, กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองเย รัฐมอญ, กรณีเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา, กรณีเหมืองถ่านหินบานชอง และกรณีโครงการทวาย (ดังที่กล่าวไปแล้ว) ในส่วนของประเทศลาว ประกอบด้วย กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์หงสา เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี, กรณีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี, กรณีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ในส่วนของประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย กรณีสัมปทานที่ดินเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเกาะกง, กรณีสัมปทานที่ดินเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดโอดอร์เมียนเจย, และในส่วนของประเทศเวียดนาม คือ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ
ในการทำงานของ ETO Watch Coalition นั้น เราใช้วิธีการทำงานแนวระนาบที่ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นผู้นำ แต่ใช้วิธีการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยอาศัยความถนัดในการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายขององค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- การทำงานในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลหรือดำเนินการวิจัยด้วยตนเองในพื้นที่เป้าหมายหรือพื้นที่ที่ได้รับหรือมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งการสำรวจและศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- การดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม โครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้วและมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและส่งแวดล้อม
- การประสานงานกลุ่มหรือเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน
- การทำงานในลักษณะรณรงค์เพื่อให้เกิดการติดตามและแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล เช่น การทำงานรณรงค์เชิงนโยบายกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน องค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน และองค์การสหประชาชาติผ่านคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights)
Facebook: https://www.facebook.com/ETOWatchCoalition/