myanmar report

“พม่าที่ผลิกผัน”: วันวาน วันนี้ วันหน้า หน้าตาของพม่าจะเป็นอย่างไร และเราทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร เรียบเรียง
รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์ ภาพ

หลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมาก็ได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางจนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตมนุษยธรรมและถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ งานเสวนา “พม่าที่พลิกผัน” (Unpredictable Myanmar) ในครั้งนี้มีวิทยากรร่วมเสวนา จำนวน 5 ท่าน ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศพม่าและความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกรณี โดยมีกฤษณ์พชร โสมณวัตร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า ประเทศพม่าก่อนรัฐประหารก็ไม่ได้สันติมากนัก เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสู้รบชายแดน และเสรีภาพสื่อ

ความพลิกผันในพม่าหลังเกิดการรัฐประหารคือการทำให้ประเทศกระโดดพลิกกลับไปข้างหลัง แม้ว่าก่อนหน้านี้กระบวนการสันติภาพจะยังไม่เกิดขึ้นในพม่ามากนัก แต่ที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนก็เริ่มมีทิศทางและก้าวไปข้างหน้าได้ การเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทำให้ประชาชนพม่ารู้จักโลกภายนอกและความเป็นไปของสังคมโลกมากกว่าที่เคยเป็น

การใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน หลังการรัฐประหาร เป็นการโจมตีที่ไม่ได้มีการแยกแยะระหว่างคนที่ถืออาวุธหรือไม่ถืออาวุธ เป็นการโจมตีที่ไม่แยกแยะว่าสถานที่นั้นเป็นสถานที่สำคัญอย่างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือบ้านเรือนประชาชนทั่วไป

นอกจากความรุนแรงแล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาอื่น ๆ เช่น การควบคุมโรคติดต่อ การขาดแคลนอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ เกิดภาวะทุพภิกขภัย การปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งอาหาร ประชาชนอดอยาก ทำมาหากินไม่ได้ เพาะปลูกไม่ได้ เพราะต้องหนีอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีการใช้ทหารเด็ก บังคับเกณฑ์ทหาร และบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวาง ซ้ำร้ายยังมีการเกิดขึ้นอย่างมากของธุรกิจมืดตามแนวชายแดน

“ดังนั้นโดยส่วนตัวจึงมองว่าวิกฤตของพม่าก็คือวิกฤตของเรา (ไทย)”

วิกฤตในพม่าส่งผลให้มีการอพยพลี้ภัยของผู้คนในเมียนมาเป็นจำนวนมากทั้งที่ตกเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยการมืองทะลักเข้ามาในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายวิธี

ไทยมีนโยบายที่ไม่มีนโยบายในการจัดการกับเรื่องนี้ กล่าวคือ ไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนที่แม้ว่ารัฐไทยจะไม่ปฏิบัติหรือยอมรับสถานะความเป็นผู้ลี้ภัยของประชาชนจากเมียนมา แต่ก็ยังมีที่หลบภัยที่ปลอดภัยสามารถเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยได้ พร้อมปล่อยให้ UNHCR ดำเนินกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองต่าง ๆ แก้ผู้ลี้ภัยก่อนเดินทางไปยังประเทศที่สามหรือกลับภูมิลำเนาได้ แต่ปัจจุบันไม่มีกระบวนการอะไรแบบนี้เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่แล้ว

การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านการเป็นมหามิตรระหว่างกองทัพไทยและพม่าไม่อาจแก้ปัญหาใด ๆ ได้ในระยะยาวและจะยิ่งสร้างความลำบากและความทุกข์ให้กับประชาชนของทั้งในเมียนมาและประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น

รัฐไทยไม่นับว่าประชาชนที่ลี้ภัยสงครามเป็นผู้ลี้ภัย เพราะไทยไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย มีแต่คนที่หลบหนีภัยการสู้รบ ซึ่งกลุ่มนี้จะอยู่ตามแนวชายแดน ส่วนคนที่เป็นผู้ลี้ภัยการเมือง ก็ถูกรัฐไทยมองว่าเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายและคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงาน ทุกคนที่ถูกจับกุมจะถูกเรียกว่าแรงงานผิดกฎหมาย

การที่ไทยมองว่าวิกฤตในพม่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาและผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้หายไป หรือตัวเลขผู้ลี้ภัยจะลดลงได้แต่อย่างใด แม้จะสามารถส่งกลับหรือผลักดันกลับไปได้ แต่สุดท้ายผู้ลี้ภัยก็จะกลับมาอีกอยู่ดีเพราะสถานการณ์ที่บ้านเขาไม่เอื้อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย

ผู้ลี้ภัยต้องประสบกับความหวาดกลัว ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ ส่วนหน่วยงานที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผย ต้องทำอย่างลับ ๆ ล่อ ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การช่วยเหลือเข้าไปถึงผู้ลี้ภัยได้ไม่มากนักและไม่ทั่วถึง

พวกเขาต้องหนีตลอดเวลา อยู่ฝั่งพม่าก็กลัวทหาร อยู่ฝั่งไทยก็กลัวตำรวจไทย ผู้ลี้ภัยไม่ใช่อาชญากร แต่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ เด็ก ๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เด็กที่ข้ามมาเรียนในฝั่งไทยก็ถูกผลักดันกลับ

ในส่วนของเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด ขณะนี้ได้เกิดโรคมาลาเรียระบาดบริเวณชายแดนมากขึ้น หลังจากที่ไม่ได้เห็นมาหลายปี

เราได้เห็นข่าวที่มีคนถูกจับขณะที่เดินทางเข้ามาลี้ภัยในเขตเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มาจากในพื้นที่สงครามและการสู้รบในพม่า ซึ่งไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อหางานทำ แต่เพื่อเอาชีวิตรอดจากสภาวะสงครามและการปราบปรามของกองทัพพม่า ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ชายแต่มีทั้งผู้หญิงและเด็ก 

อันดับแรกรัฐไทยต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นก่อน แล้วเอาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการมาใช้ ถึงจะสามารถแก้ไขหรือบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องมองว่าพวกเขาเป็นประชากรของภูมิภาค เพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ และบรรเทาปัญหาความมั่นคงของเราและภูมิภาค ประเทศไทยมีโอกาสสร้างมิตรมากกว่าจะสร้างศัตรูแล้ว ก็ควรขยับหรือลงมือทำบางอย่าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นระเบิดเวลาที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้อีก

พรสุข เสริมว่าแม้การรัฐประหารเมื่อปี 2564 จะมีความคล้ายกันกับเหตุการณ์เมื่อปี 1988 แต่ก็มีหลายอย่างที่ต่างกันมาก เพราะการรัฐประหารในครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบกว้างขวางอย่างมากทั่วประเทศและเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ ซึ่งตรงนี้คือความแตกต่างที่ต้องเน้นย้ำ

การเกิดขึ้นของกองกำลังปกป้องประชาชน หรือ PDF นั้นมีเป้าหมายและการโจมตีที่กว้างขาวงมากกว่ากองกำลังนักศึกษาในช่วงปี 1988 มาก และเมื่อมีการกระจายกำลังของฝ่ายต่อต้านมากขึ้น การทำลายล้างจากฝ่ายกองทัพพม่าจึงกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การโจมตีทางอากาศจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เลือกหน้า และไม่สนว่าพื้นที่นั้น ๆ จะเป็นพ้นที่ของชาวบ้านทั่วไปหรือกองกำลัง

ในปัจจุบัน พื้นที่ชายแดนได้พ่วงเศรษฐกิจมืดหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการค้ามนุษย์แบบข้ามพรมแดนที่มีตัวแสดงและประเทศต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องซับซ้อนยิ่งขึ้น บ่อนคิโน ยาเสพติด รวมถึงคอลเซ็นเตอร์และธุรกิจฟอกเงินต่าง ๆ  นอกจากนั้นแล้วในพื้นที่ชายแดน ตรงที่ได้รับระเบิดก็ระเบิดไป ตรงที่ไม่ถูกระเบิดก็ยังดำเนินการธุรกิจต่อไปได้ มีแสงไฟจากพื้นที่ให้เห็นประปราย

“เมื่อผู้ลี้ภัยในเขตเมืองเข้ามาในแม่สอดหรือกรุงเทพฯ ถูกตำรวจจับ พวกเขามักจะถูกเหมารวมไปในทันทีว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย สถานะของพวกเขาพัวพันกันหลายระดับ ปัญหาต่าง ๆ แยกไม่ออก หลายอย่างทับซ้อนกันจนยากที่จะแก้ไขหากยังไม่มีมาตรการดำเนินการช่วยเหลือที่ชัดเจน”

ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อสังเกตว่าปัญหาของวิกฤติสิทธิมนุษยชนในพม่านั้นเริ่มต้นจากการอ้างความชอบธรรมของคณะรัฐประหารด้วยการกล่าวอ้างว่ารัฐบาลพลเรือนทำการโกงการเลือกตั้ง จากนั้นจึงมีการตั้งองค์กรอย่างสภาบริหารแห่งรัฐขึ้นมาเพื่อออกฎหมายและแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้คณะรัฐประหารมีอำนาจเต็มในการจัดการกับฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายประชาธิปไตย

การต่อต้านของภาคประชาชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งในช่วงแรกแม้ว่าฝ่ายประชาชนจะต่อต้านด้วยวิธีการที่สันติแต่คณะรัฐประหารและกองทัพพม่ากลับตอบโต้ด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ประชาชนหลายรายเลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศ

เมื่อกลายเป็นผู้ลี้ภัย พวกเขาแทบทุกรายต้องประสบกับภาวะเครียด สิ้นหวัง มีภาวะ trauma รุนแรง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศมาแล้ว

หลายคนตระหนักว่าตนเป็นหมอ วิศวกร อาจารย์มหาวิทยาลัย มีความสามารถเฉพาะด้าน ก็จะสามารถเอาตัวรอดได้บ้าง แต่หลายคนไม่มีอาชีพหรือทักษะเฉพาะด้านทำให้เขาต้องประสบกับความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดในต่างแดน จึงต้องหางานทำ ซึ่งก็จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

โดยสรุปก็คือหลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารใช้ระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงผ่านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ชยันต์แนะนำว่ารัฐบาลไทยควรทบทวนนโยบายระหว่างประเทศเสียใหม่พร้อมระบุว่าไทยสูญเสียโอกาสจากสถานการณ์นี้มากน้อยแค่ไหน และต้องให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและสถานการณ์ตามชายแดนในด้านมนุษยธรรมให้มากขึ้น

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษาจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ระบุว่า คณะกรรมาการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ได้ดำเนินการติดตามการใช้กฎหมายหลังรัฐประหารเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง

8 ปีก่อน หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเทศไทยเองก็มีการใช้กฎหมายคล้าย ๆ กันกับที่เกิดขึ้นในเมียนมาในขณะนี้ ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายประเด็น

สัณหวรรณชี้ให้เห็นถึงความพลิกผันในระบบกฎหมายของเมียนมาหลังรัฐประหารที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศในหลายประเด็นด้วยกัน

มีการใช้กฎหมายในเมียนมาที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหลายอย่างด้วยกัน เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้กฎอัยการศึก

ที่ปรึกษา ICJ รูปแบบและเงื่อนไขการประกาศไม่ตรงตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกนั้นมีเงื่อนไขที่สำคัญคือต้องเป็นสถานการณ์ที่กระทบต่อความอยู่รอดของชาติ แต่เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษต่าง ๆ นี้ของคณะรัฐประหารคือมีการโกงการเลือกตั้งหรือมีการเลือกตั้งที่ผิดปกติ ซึ่งไม่เข้าข่ายกฎหมายระหว่างประเทศ

หนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามีบทบาทสำคัญในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งคณะรัฐประหารก็ไม่ต้องรับผิดต่อการกระทำที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดตามมา

ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายนั้น มีหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหารคือ สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ State Administration Council: SAC ซึ่งมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน ค้นตัวคนได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีพยานหรือหมายศาล มีกฎหมายที่ไม่ให้มีการให้ความเห็นที่สร้างความหวาดกลัว การแก้กฎหมายมาตรา 124C กำหนดโทษให้มีการจำคุกถึง 20 ปี หากมีการกระทำใด ๆ ที่เป็นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือการแก้กฎหมายมาตรา 124D ที่ระบุว่าหากพบว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล

มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย โดยกำหนดให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 505A, 124C, 124D ต่าง ๆ ไม่สามารถประกันตัวได้ และสามารถถูกจับโดยไม่มีหมายศาลได้

นอกจากนั้นยังมีการแก้กฎหมายการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปค้นข้อมูลส่วนบุคคลได้

ในประเด็นการจับกุมคุมขังผู้ต้องหา คณะรัฐประหารได้มีการถอนสิทธิที่ประชาชนจะสามารถท้าทายความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมคุมขังได้ ซึ่งนี่เป็นสิทธิที่สำคัญมากในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสิ่งนี้เองนำไปสู่การจับกุมคนอย่างมหาศาลหลังรัฐประหารมากกว่าหมื่นราย คนเหล่านี้ไม่สามารถท้าทายเจ้าหน้าที่ได้ว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หลังไทยเกิดการรัฐประหาร ไทยใช้ศาลทหารกับพลเรือนด้วย ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในเมียนมาเช่นกัน ผู้พิพากษาในศาลทหารก็เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร มีการตั้งศาลในเรือนจำ คนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปฟังการไต่สวนหรือฟังคำตัดสินได้ ซึ่งขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะศาลต้องมีความเป็นสาธารณะ

มีทนายความที่จะเข้ากระบวนการทางกฎหมายของคณะรัฐประหารหลายคน แต่ก็ถูกข่มขู่ จับกุม และคุมขัง โดยเฉพาะทนายความที่ให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง มีทนายความ 46 คนที่ถูกคุมขังและจับกุมหลังการรัฐ)ระหาร ซึ่งกรณีคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในไทยเช่นกัน ปกติแล้วสภาทนายความใช้ระบบเลือกตั้ง แต่หลังไทยเกิดรรัฐประหาร ทหารก็เป็นคนแต่งตั้ง

สภาพความเป็นอยู่ในสถานที่คุมขังแย่มาก ทั้งแออัดและมีความเป็นอยู่ รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งนี่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ

สัณหวรรณเสริมว่าหลังการรัฐประหารมีการละเมิดสิทธิเด็กเกิดขึ้นมาก เด็กถูกจับกุมไปอยู่ในที่คุมขังเดียวกันกับผู้ใหญ่ เด็กถูกร่วมละเมิดทางเพศ ตอนเด็กถูกปล่อยตัวก็ถูกบังคับให้ลงนามข้อตกลงให้รับสารภาพ และที่แย่คือมีการสั่งประหารชีวิตเด็กอย่างน้อย 2 ราย

ข้อเรียกร้องสำคัญของตนคือให้มีรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว หยุดการใช้ศาลทหารและศาลพิเศษ กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปโดยชอบธรรม ยกเลิกวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขกฎหมายในอนาคตต้องไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

“ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียว มีทนายความที่ยังต่อสู่อยู่ในศาลทุกวัน และเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมตามปกติจะสามารถฟังก์ชั่นได้ จะได้เห็นได้ว่ามีการปล่อยตัวผู้ถูกดำเนินคดีอยู่เป็นระยะจากการต่อสู้ของทนายความในชั้นศาล”

ดร. ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนตั้งประเด็นคำถามว่าทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องสันติวิธีเวลาพูดถึงหัวข้อเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ในพม่าทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร พร้อมชวนคิดว่าเราจะลดข้อจำกัดหรือข้อท้าทายอย่างไรได้บ้างโดยการใช้แนวทางสันติศึกษาหรือสันวิธีเข้ามามอง

ขวัญชนกกล่าวว่านักสันติวิธีมักถูกตั้งคำถามทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์การสู้รบ และคำว่าสันติ หรือ Peace ก็เป็นคำที่มีปัญหา เพราะเมื่อเราเอาคำนี้ไปเติมในท้ายนโยบายต่าง ๆ มันจะทำให้สิ่งนั้นดูสวยงามและไม่ต้องตั้งคำถาม

คำว่าสันติวิธีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ โดย UN จะให้ความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก ๆ สามอย่างคือ การสร้างสันติภาพ (peacebuilding) การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) และการทำให้เกิดสันติภาพ (peacemaking) โดยที่องค์กรที่มีบทบาทในส่วนนี้ไม่ได้มีแค่องค์กรโลกบาล แต่ยังมีองค์กรภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรง เพื่อนำมาสู่การลดนโยบายแบบบนลงล่างมาเป็นล่างขึ้นบนสำหรับกระบวนการสันติภาพ โดยองค์กรสำคัญในกรณีเมียนมานั้นมีด้วยกันหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันเสียงของคนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อยที่มีความหลากหลายนั้นดังขึ้น

สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ไปคานกับเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐที่ส่งผลต่อการออกนโยบายต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐไทยเองโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. บอกว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาผู้ลี้ภัย เมื่อรัฐไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัยและมองผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องภายนอกจึงทำให้นโยบายรัฐไม่ตอบสนองต่อผู้ลี้ภัยได้และเป็นไปอย่างเชื่องช้า

รัฐไม่เคยเอาหลักมนุษยธรรมเข้าไปใส่ในนโยบายของรัฐ เวลาเขียนนโยบายระหว่างประเทศและชายแดน รัฐมักจะนึกถึงความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงของคนที่อยู่ในเขตแดนไทยก่อน มันจึงทำให้นโยบายผู้ลี้ภัยนั้นขยับช้ามาก

เราจะทำอย่างไรให้เสียงของผู้ลี้ภัยถูกทำให้ดังและนำเสนอได้มากที่สุด ทั้งในกระบวนการรับผู้ลี้ภัยจนไปถึงส่งกลับหรือไปประเทศที่สาม

ชุมชนที่อยู่ชายแดนเป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่เมื่อมีการสู้รบและต่อสู้ยาวนานนับแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐจัดการด้วยการนิยามผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นผู้หนีภัยสงคราม

ขวัญชนกให้ข้อสังเกตว่าผู้ลี้ภัยในช่วงหลังมานี้ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยสงครามอย่างเดียวแล้ว แต่เขาเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ที่เข้ามาทั้งในค่ายและนอกค่ายก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ละกลุ่มมีภาษา ความคิดความเชื่อ ศาสนา ที่มา เพศ อายุ ที่แตกต่างกัน สิ่งนี้รัฐต้องคิดต่อว่าจะมีนโยบายอย่างไรในการจัดการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

ดังนั้นรัฐไทยจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อสถานการณ์ข้างบ้านและในบ้านที่เกิดขึ้น

“ปัญหาผู้ลี้ภัยนั้นลึกกว่าที่เราเข้าใจในตอนนี้ การจะสร้างสันติภาพต้องเป็นกระบวนการในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การจับคนเข้าไปอยู่ในค่ายและทำให้เขาไร้อนาคต เราต้องสร้างความหวังว่าในอนาคตจะไม่มีความรุนแรงและมีความหวังที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยมีชีวิตต่อไปได้”

โทมัส เอช. แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา อธิบายว่า ตำแหน่งผู้รายงานพิเศษของ UN คือ กลไกผู้รายงานพิเศษเป็นกลไกอิสระของสหประชาขาติที่มีการตัดสินใจที่เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นตรงต่อเลขาธิการ UN หรือแม้กระทั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีกฎที่ต้องทำตามอยู่ เช่น การวิจารณ์รัฐภาคีที่ถูกตรวจสอบทำไม่ได้ในทันที ต้องมีการแจ้งให้รัฐภาคีนั้น ๆ รับทราบล่วงหน้าถึงจะสามารถวิจารณ์ได้ แม้มีเสรภาพในการวิจารณ์แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบบางอย่างเช่นกัน

หน้าที่หลักของผู้รายงานพิเศษในกรณีเมียนมาก็เช่นเดียวกับกรณีอื่นคือการรายงานข้อมูลให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรวมถึงวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา และต้องมีการจัดทำรายงานและอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นยังสามารถทำบทวิจารณ์ในประเด็นเฉพาะที่ปรากฎในรายงานเพิ่มเติมได้ด้วย

โทมัสกล่าวว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาได้ทำรายงานเกี่ยวกับพันธมิตรทางอาวุธหรือประเทศที่ขายอาวุธให้กับกองทัพพม่า ตอ่มาได้จัดทำรายงานอีกฉบับที่พูดถึงผลกระทบหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเน้นไปที่เด็กและเยาวชน

สิ่งที่สามารถพูดถึงและประเมินได้ในขณะนี้คือทหารพม่าจะยังคงดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่ออาชญากรรมต่อคนในชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป จนถึงตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าเผาบ้านประชาชนไปแล้วมากกว่า 30,000 หลังคาเรือน อีกทั้งการรัฐประหารส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา ล่มสลาย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้จะมีเด็กพม่ากว่า 33,000 คน เข้าไม่ถึงการศึกษาและปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

โทมัสคาดว่าประชาคมระหว่างประเทศจะยังคงสร้างความผิดหวังต่อกรณีเมียนมา เหตุเพราะขาดเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งอาจจะสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนระหว่างกรณีเมียนมากับสงครามยูเครน เพราะหลังสงครามยูเครนเพียง 4 วัน ประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ UN ได้มีมาตรการเยอะมากเกี่ยวกับกรณียูเครน แต่พอเป็นเมียนมากลับไม่มีอะไรคืบหน้าทั้งที่ชาวเมียนมารณรงค์มาเป็นปีแล้ว

ในกรณีเมียนมายังไม่มีมติหรือการประชุมฉุกเฉินในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN เกิดขึ้นเลย หรือแม้กระทั่งไม่มีการประกาศยึดทรัพย์ ปิดกั้นการเข้าถึงแหล่งทุนหรือบัญชีหรือเป็นการคว่ำบาตรในเชิงระหว่างประเทศต่อคณะรัฐประหารในระดับสากลแต่อย่างใด มีแต่มาตรการระดับประเทศแต่ละประเทศดำเนินการเอง

สิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศควรทำคือประชาคมระหว่างประเทศต้องปิดกั้นการเข้าถึงปัจจัยที่ทำให้ทหารพม่าสืบทอดอำนาจต่อไปได้คือ การเงิน อาวุธ และความชอบธรรม

ในเรื่องของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าปิดกั้นไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในเมียนมาได้ และคาดว่าในอนาคตจะมีคนที่เข้ามาหนีภัยในบริเวณชายแดนอีกเป็นจำนวนมาก

โทมัสให้ความเห็นว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ไม่ควรอยู่เฉย หนึ่ง มีหน้าที่ทางมนุษยธรรมในการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน หากบ้านเพื่อนบ้านไหม้ บ้านเราก็จะไหม้ไปด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าไทยมีแรงจูงใจและทางศีลธรรมและประโยชน์ส่วนตัวในการที่ทำให้เราต้องช่วยเหลือเพื่อนบ้าน

วิธีการที่จะหยุดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในเมียนมาได้คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC สามารถออกมติให้มีการแทรกแซงอย่างมีเป้าหมาย ห้ามการส่งอาวุธไปยังเมียนมา และส่งความช่วยเหลือระหว่างประเทศ แต่ในส่วนนี้ก็เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคาดจะมีบางประเทศในคณะมนตรีดังกล่าวที่จะค้านหรือวีโต้การคว่ำบาตรนี้

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้หลายประเทศมีความเห็นร่วมกันว่าพวกเขามีความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเมียนมาและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน แต่สิ่งนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ยากหากขาดเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน

ขณะนี้ในการตอบสนองต่อกรณีเมียนมานั้น ปฏิกิริยาของนานาชาติเป็นเพียงการรับมือเฉพาะหน้า และมีมาตรการคว่ำบาตรที่ไม่เชื่อมโยงกัน เพราะเป็นเรื่องของแต่ละประเทศจะมีมาตรการออกมา เหตุเพราะยังขาดเจตจำนงทางการเมืองและขาดการประสานงานอย่างแท้จริง หากมีการประสานงานอย่างแท้จริงเกิดขึ้นอาจจะต้องเริ่มดูจากว่าอะไรเป็นจุดอ่อนของคณะรัฐประหารพม่า และร่วมมือกันจากจุดนั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าภาพในการประสานงาน

ผู้รายงานพิเศษกรณีเมียนมาวิเคราะห์เห็นเพิ่มเติมว่าปัจจัยอย่างที่หนึ่งที่ทำให้คณะเผด็จการทหารยังคงเดินหน้าปราบปรามประชาชนคือ เงินหรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปิดกั้นหรือการเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางการเงินหรือทางบัญชีของกองทัพในระดับระหว่างประเทศ ปัจจัยที่สอง คือ อาวุธกับเทคโนโลยี ทำให้รัฐบาลทหารพม่าก่อกรรมทำเข็ญได้มากขึ้นและรวดเร็วรุนแรงขึ้น ปัจจัยที่สาม คือ แรงกดดันทางการทูต การที่หลายประเทศรวมตัวกันแถลงจุดยืนที่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดแรงกดดันและทำให้เสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการตอบสนอง และปัจจัยที่สี่ คือ เรื่องของความชอบธรรม หลายประเทศดำเนินนโยบายที่กลับไปสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพพม่าทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งในปี 2023 ที่จะเกิดขึ้นนี้นับเป็นเรื่องตลกที่สุด มันไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นละครและเป็นเรื่องตลก มองไม่เห็นว่ามันจะเป็นการเลือกตั้งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เสรี และเป็นธรรมได้อย่างไร ในเท่องกองทัพยังคงปราบปรามฝั่งตรงข้ามและจับกุมนักข่าว และมีรายงานว่ามีบางประเทศส่งคณะทำงานไปช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในเมียนมาเพื่อจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าแล้ว

“ประชาคมระหว่างประเทศยังคงต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวเมียนมาทั้งในและนอกประเทศ” ผู้รายงานพิเศษของ UN กล่าว

โทมัสให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดทำรายงานต่าง ๆ ในฐานะผู้รายงานพิเศษกรณีเมียนมาเพิ่มเติมว่ารายงานที่จะจัดทำข้างหน้าจะไม่ได้พูดถึงปัญหาอย่างเดียว แต่จะพูดถึงการช่วยเหลือกันเองของผู้คนในเมียนมาด้วย

เรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือบรรดาภาคประชาสังคมที่ทำงานข้ามพรมแดนช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ทุกวันนี้ก็ถูกตัดเงินให้ความช่วยเหลือ และเงินช่วยเหลือจาก UN ก็มายังเมียนมาเพียงน้อยนิด นอกจากนั้นแล้ว สภาพการณ์ที่แร้นแค้น ลำเค็ญในเมียนมาจะยังผลักดันให้ผู้คนข้ามพรมแดนมากขึ้น

“สถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมายังคงน่าเป็นห่วงมาก คนกลุ่มหนึ่งกำลังเดือดร้อนและข้ามมาเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ข้ามมาก็ถูกจับกุมและส่งกลับ หลายคนที่ถูกส่งกลับก็ถูกจับกุม ถูกทรมาน และทำให้เสียชีวิต และไม่ว่าจะมองจากมุมไหน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือความล้มเหลวทั้งในเชิงศีลธรรมและกฎหมายที่เกิดขึ้นทั้งในเมียนมาและระดับระหว่างประเทศ” เขาเป็นท้ายโดยกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยภาพรวมอย่างน่าเศร้า

0 comments on ““พม่าที่ผลิกผัน”: วันวาน วันนี้ วันหน้า หน้าตาของพม่าจะเป็นอย่างไร และเราทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: