สรุปสถานการณ์และข้อเสนอแนะ: การดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการจัดการปัญหาของประชาชนจากประเทศเมียนมา[1] ที่เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และที่กลายมาเป็นผู้ลี้ภัย[2]ในประเทศไทย
1. ภาพรวมตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและสถานการณ์ผู้ลี้ภัยภายหลังการรัฐประหารในเมียนมา
ความขัดแย้งทางอาวุธในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ประเทศเมียนมา) การพยายามโจมตีพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ของกองทัพเมียนมาภายหลังการก่อรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากมีความหวาดกลัวต่อภัยประหัตประหาร ต้องหนีภัยประหัตประหารและกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons) และกลายมาเป็นผู้ลี้ภัย ในประเทศไทยจากรายงานล่าสุดสถานการณ์ฉุกเฉินในเมียนมา วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 (Myanmar Emergency Update as of 01 July 2021) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ความรุนแรงและความไม่มั่นคงที่เกิดจากการสู้รบนับแต่ตั้งเหตุรัฐประหาร ส่งผลให้ประชาชนกว่า 211,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐคะฉิ่นราว 10,200 คน รัฐฉานมากกว่า 30,200 คน รัฐชินราว 10,000 คน[3] ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ‘สถานการณ์มนุษยธรรมในเมียนมา หมายเลข 9’ (Myanmar Humanitarian Update No.9) รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 27 กรกฎาคม 2564 โดยสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรม (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยาซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยมีจำนวนมากที่สุดราว 170,200 คน[4] ในจำนวนนี้ มีร่วมหมื่นคนที่หนีภัยการประหัตประหารไปมาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา และแทบทั้งหมดของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยายังคงอยู่ในป่า ไม่สามารถกลับเข้าชุมชนได้ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาและผู้ลี้ภัยในฝั่งไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก นอกจากนี้ ยังมีประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จากเมียนมา ซึ่งจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองต่อต้านการรัฐประหาร และมีความคิดเห็นแตกต่างกับรัฐบาลทหาร ที่ต้องขอลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยทุกคน มีความต้องการการคุ้มครองและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีชีวิตรอดแล้ว รวมถึงต้องการความช่วยเหลือทางจิตสังคม การศึกษา การรักษาพยาบาล คำแนะนำทางกฎหมาย
2. สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย กรณีรัฐกะเหรี่ยง
รายงานของเครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network: KPSN) ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่า ระหว่างช่วงวันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 และวันที่ 28 – 29 เมษายน 2564 ได้มีการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงหลายครั้ง โดยการโจมตีไม่ได้มุ่งไปที่ฐานทัพของกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงโดยตรง แต่มุ่งไปยังพื้นที่อยู่อาศัยในหลายชุมชน เป็นผลให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากปฏิบัติทางอากาศโดยตรงหลายคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากผลพวงของสงครามและการพลัดถิ่นที่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัดอีก เช่น หญิงท้องแก่ที่เสียชีวิตระหว่างเดินทางขอมาคลอดที่โรงพยาบาลฝั่งไทย เด็กพิการที่เสียชีวิตระหว่างการหนีภัยมาประเทศไทยอีก 1 ราย บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และทรัพย์สินของพลเรือนถูกทำลายเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีภาคพื้นดินและการประหัตประหารที่เกิดจากสู้รบและเคลื่อนกำลังพลของกองเมียนมาเข้าในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศยังคงใช้ชีวิตอยู่ในเขตป่า เพราะไม่สามารถกลับเข้าชุมชนที่ยังคงไม่มีความปลอดภัยได้
วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 กองทัพเมียนมาได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศ โดยมีการทิ้งระเบิดและยิงปืนกลอัตโนมัติเข้าใส่หมู่บ้านเดอปูนุ และอีกอย่างน้อยใน 14 หมู่บ้านใน 3 เมืองของจังหวัดมูตรอ ได้แก่ เมืองลูธอว์ เมืองบูโธว์ และเมืองดเวโล่ ทำให้ประชาชนถูกสังหารในปฏิบัติการโดยตรง 16 คน อีกจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้นเครื่องบิน 4 ลำของกองทัพเมียนมาได้บินมาตามแนวลำน้ำสาละวินและทิ้งระเบิดอีก 2 หมู่บ้าน เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนมีความหวาดกลัว จนบางส่วนหนีจากเขตเมืองของจังหวัดมูตรอมาที่บ้านแมนึท่า ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำสาละวิน และมีประชาชนที่หนีข้ามแม่น้ำสาละวินมาทางฝั่งไทยประมาณ 7,000 คน เพื่อมาลี้ภัยในพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย และตำบแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ต่อมาในวันที่ 29-31 มีนาคม 2564 ผู้ลี้ภัยกว่าสองพันได้ถูกผลักดันกลับฝั่งเมียนมาท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มีความมั่นคง กองทัพเมียนมายังคงมีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอยู่ อย่างไรก็ตาม มีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงกระจายตัวอยู่ในความควบคุมของหน่วยทหารพรานท้องถิ่นในอำเภอแม่สะเรียงรวมถึงมีคนแก่และเด็กประมาณ 500 คน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ถูกผลักดันกลับในวันเดียวกัน แต่ทั้งหมดได้ถูกผลักดันกลับภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา
วันที่ 27 เมษายน 2564 ภายหลังกองกำลังทหารกะเหรี่ยงได้โจมตีฐานทหารเมียนมาซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ในวันที่ 28 – 29 เมษายน 2564 กองทัพเมียนมาได้ใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตี 2 หมู่บ้านในเมืองบูโทและหมู่บ้านในเขตดาเกว่ รวมถึงใช้โดรนบินสอดแนม และมีการยิงปืนครกเข้าไปในหลายหมู่บ้านในเขตดาเกว่ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ทหารเมียนมายังได้พยายามเคลื่อนกำลังจากเมืองผาปูนเพื่อมายึดฐานทหารเมียนมาในบริเวณตรงข้ามแม่สามแลบคืน ทำให้ในวันที่ 27 เริ่มมีประชาชนจากหมู่บ้านระท่า แมนึท่า ออเลาะท่า อีตุท่า โกลปะ โกเฮโกล และดาเกว่ ลี้ภัยการสู้รบเข้ามาอยู่ฝั่งไทยอีกครั้ง คาดว่ามีจำนวนประมาณ 3,112 คน ต่อมาในวันที่ 28 ทางการไทยได้เริ่มผลักดันคนกลุ่มกลับ แต่วันที่ 29 ประชาชนก็กลับเข้ามาในฝั่งไทยอีกครั้ง เนื่องจากมีการโจมตีทางอากาศและการภาคพื้นดิน และภายใน 1 สัปดาห์นับแต่วันแรกที่เข้ามา ผู้ลี้ภัยได้ทยอยถูกผลักดันกลับวันละ 1 – 2 จุดทุกวันจนหมด
เกือบทั้งเดือนพฤษภาคม มีการต่อสู้ระหว่างทหารกะเหรี่ยงและทหารเมียนมาประมาณ 193 ครั้ง ในหลายเมืองของจังหวัดมูตรอ มีการยิงปืนครกเข้าหมู่บ้านเกือบทุกวันตลอดทั้งเดือนร่วม 98 ครั้ง และมีบ้าน 40 หลังคาเรือนในเมืองเดวโลถูกเผาเสียหาย รวมทั้งมีการเผายุ้งข้าวที่ประชาชนเก็บข้าวไว้กินทั้งปี ทหารเมียนมาได้พยายามส่งกำลังเข้ามาผ่านรัฐกะเหรี่ยงแดง เมื่อทหารเมียนมาไม่สามารถสู้กับทหารกะเหรี่ยงในพื้นได้ ก็จะยิงปืนครกเข้าหมู่บ้านแทนเพื่อเป็นการกดดันทหารกะเหรี่ยงให้หยุดยิงทางอ้อม ในขณะเดียวกัน ทหารเมียนมาได้ส่งโดรนมาบินสอดแนมในเมืองและริมแม่น้ำสาละวินแทบทุกวัน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวไม่กล้ากลับเข้าบ้านตัวเอง และไม่กล้าก่อไฟหรือทำให้เกิดแสวงสว่างในช่วงกลางคืน อย่างไรก็ตาม มีประชาชนเพียงประมาณ 300 คน ที่หนีมาฝั่งไทย เนื่องจากรู้ว่าถ้าเข้ามาจะถูกทางการไทยผลักดันกลับ และคาดว่ามีประชาชนออกไปหลบอยู่ในป่าเกือบ 7,000 คน โดยส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ถ้ามีเหตุการณ์โจมตีทางอากาศอีกจะได้ลี้ภัยข้ามมาฝั่งประเทศไทยทันที
เดือนมิถุนายน ยังคงมีการต่อสู้ระหว่างทหารกะเหรี่ยงและทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่องในหลายจุด รวมทั้งหมด 254 ครั้ง มีประชาชนเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 6 คน ทหารเมียนมาได้ยิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้านจำนวน 232 ลูก ยิงปืนใส่ประชาชนที่กำลังปลูกข้าวอยู่ทั้งหมด 4 ครั้ง และปล้นสะดมประชาชนในหมู่บ้านที่ทหารเคลื่อนกองกำลังผ่าน พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินของประชาชนหลายรายการ ทหารเมียนมาและกำลังเสริมจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (ในกำกับของกองทัพเมียนมา) ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดแนวรอยต่อระหว่างกองพลที่ 1 และกองพลที่ 1 โดยมีเป้าหมายจะเคลื่อนพลเข้าไปยังเขตพื้นที่ชั้นในของกองพลที่ 5 ทหารเมียนมาได้มีการจับตัวประชาชนเพื่อให้นำทางเข้าไปในพื้นที่ชั้นใน หากประชาชนไม่ยอมจะมีการทุบตีทำร้ายและบังคับให้นำทาง อย่างไรก็ตาม มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศบางส่วนได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตัวเองแล้ว บางส่วนหลบซ่อนอยู่บริเวณใกล้เคียงชุมชนเดิมเพื่อทำการเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเอง และบางส่วนยังคงอาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากหมู่บ้านยังไม่มีความปลอดภัย
3. สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย กรณีรัฐคะยา
รัฐคะยาหรือรัฐคะเรนนี มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นักหากเทียบกับรัฐอื่นๆ ตั้งอยู่ภาคตะวันออกของเมียนมา มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ และแร่ธาตุ มีประชากรเพียงราว 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวคะเรนนีหรือกะเหรี่ยงแดง นอกจากนั้นมีชาวกะเหรี่ยง กะยัน (ปะด่อง) มีพรมแดนติดกับอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางเหนือติดรัฐฉาน และทางใต้ติดรัฐกะเหรี่ยง (แม่น้ำสาละวิน) มีก่อตั้งกองกำลังประชาชนคะเรนนีขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง
ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 องค์กรภาคประชาสังคมคะเรนนี (Karenni Civil Society Network) ได้เผยแพร่รายงานสรุปสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐคะยาหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ที่กองทัพเมียนมาได้โจมตีประชาชนในรัฐคะยาแทบทุกวัน โดยเฉพาะในเมืองหลักของรัฐคะเรนนี อาทิ ลอยก่อ เดมอโส่ พรูโส่ ผาซอง และบอลาเค กองทัพทหารเมียนมาได้ใช้เครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และปืนใหญ่ในการโจมตี โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ประชาชน บ้านเรือน โรงเรียน โบสถ์ ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ทหารเมียนมาและพลแม่นปืนได้ยิงสังหารใครก็ตามที่พบเห็น รองประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวชายขอบ วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ว่ามีประชาชนที่สัญจรตามถนนถูกทหารเมียนมายิงตายแล้วหลายราย โดยเฉพาะที่เขตเดมอโส่ และพื้นที่ติดพรมแดนรัฐฉาน
องค์กรภาคประชาสังคมคะเรนนีได้ทำการสำรวจในเขตลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี พบว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 13,061 คน ในจุดพักพิงชั่วคราวในป่าจำนวน 9 แห่ง ในเมืองเดมอโส่ มีจุดพักพิง 91 แห่ง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 55,265 คน ในเมืองเปกอน มีจุดพักพิง 15 แห่ง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 30,000 คน ในเมืองแมเส็ก (ใกล้ชายแดนไทย) มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 1,000 คน ในเมืองผาซอง (ติดแม่น้ำสาละวิน ใกล้ชายแดนไทย) มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 4,000คน ในเมืองบอลาเค มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 300 คน
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐคะยาจำนวนรวมกว่าแสนคนต้องหลบภัยการประหัตประหารมาอยู่ในป่าเขาโดยไม่สามารถกลับเข้าสู่หมู่บ้านของตนและแทบไม่สามารถหนีภัยออกนอกพื้นที่ได้ สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับวิกฤต เนื่องจากเสบียงอาหารเหลือน้อยลงและการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากในฤดูฝน พื้นที่หลบภัยชั่วคราวในป่ายังถูกโจมตีจากทหารพม่าจนเกิดการพลัดถิ่นซ้ำซ้อนและพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัว ประชาชนเริ่มอดอยากและไม่มีทางเลือกเนื่องจากความเสี่ยงต่อการถูกยิงหากกลับบ้านไปเอาอาหาร การขาดน้ำดื่มสะอาดยังทำให้เกิดอาการท้องร่วง ผู้พลัดถิ่นที่ซ่อนตัวในป่าไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ แม้กลุ่มบรรเทาทุกข์ท้องถิ่นพยายามหาทางช่วยกันให้ได้มากที่สุด แต่การดำเนินการมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากถนนสายต่างๆถูกทหารเมียนมาปิดและมีการวางกับระเบิดบนถนน มีการปะทะและเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นเป็นระยะ อาสาสมัครบรรเทาทุกข์บางส่วนบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างภารกิจ โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างเมืองโมบีและเมืองเดมอโส่ นอกจากนี้ กองทัพเมียนมาได้เสริมกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่จำนวนกว่า 2,000 นาย คาดว่าเพื่อไปโจมตีรัฐกะเหรี่ยง
4. การให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา และผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา
ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ของ KPSN ระบุว่าการโจมตีทางอากาศ จากการยิงปืนครก รวมถึงจากความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดจากการปะทะและความตรึงเครียดระหว่างกองทับเมียนมากับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยที่ข้ามไปมาระหว่างชายแดนไทย – เมียนมา จาก 3 เมือง ได้แก่ เมืองลูธอว์ เมืองบูโธว์ และเมืองดเวโล่ รวมถึง 70,738 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของประชากรในจังหวัดมือตรอที่มี 80,000 คน ข้อมูลจาก OCHA ระบุว่าการโจมตีของกองทัพเมียนมาในรัฐคะยาที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ได้ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 103,500 คน ด้านรายงานของประชาสังคมคะเรนนีระบุว่ามี 107,084 คน โดยคิดเป็นอัตราส่วน1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดรัฐคะยา ภาคประสังคม องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานด้านมนุษยธรรม เช่น KPSN OCHA ภาคประชาสังคมคะเรนนี ภาคประชาสังคมไทย ชี้ตรงกันว่า ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ทั้งเรื่องที่พักพิง อาหาร การบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและระบบสุขอนามัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ผ่านทางชายแดนประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากติดขัดเรื่องการอนุญาตให้เดินทาง/จัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่
นับตั้งแต่เริ่มมีผู้ลี้ภัยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินเข้ามาในเขตชายแดนประเทศไทย ภาคประชาสังคมไทย รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีการระดมความช่วยเหลือที่จำเป็นและเรียกร้องต่อรัฐไทยมาตลอดให้เปิดพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัย รวมถึงเรียกร้องให้รัฐไทยโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงผ่องถ่ายอำนาจและภารกิจไปให้หน่วยงานฝ่ายปกครองที่มีประสบการณ์บริหารจัดการผู้ลี้ภัยอย่างกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการเปิดช่องทางองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และภาคประชาสังคมไทยได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจด้านมนุษยธรรมของหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมแทบไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยยังคงเผชิญกับวิกฤตสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอย่างเนื่อง
ผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศระลอกแรกช่วงวันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 ที่อพยพข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาแต่ถูกทางการไทยผลักดันกลับแม้สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ พร้อมทั้งมีการกีดกันไม่ให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้าช่วยเหลือ การดำเนินการของรัฐไทยนี้นับว่าขัดกับหลักการไม่ผลักดันกลับ(Non – Refoulement principle) อันเป็นไปตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และขัดต่อข้อ 7 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR และข้อ 3 แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี นอกจากนี้ ยังขัดกับหลักการการส่งกลับโดยสมัครใจ แม้เจ้าหน้าที่ไทยแถลงว่ามีการชี้แจงว่า ได้ทำความเข้าใจกับผู้ลี้ภัยและการผลักดันกลับเป็นไปโดยสมัครใจก็ตาม เพราะตาม Repatriation Handbook ของ UNHCR การกลับโดยสมัครใจครอบคลุมถึงการกลับคืนถิ่นฐานของตนได้อย่างปลอดภัย สมศักดิ์ศรี ด้วยความสมัครใจ และเป็นอิสระ
ภายหลังผลักดันผู้ลี้ภัยกลับแล้ว หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยยังได้วางกำลังสกัดกั้นทุกช่องทางและมีการวางแนวลวดหนามตามริมฝั่งแม่น้ำสาละวินเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการอพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่ละเลยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรมอย่างยิ่ง หน่วยงานรัฐไทยได้แถลงถึงปฏิบัติการดังกล่าวเกิดจากความกังวลว่าการรับผู้ลี้ภัยจะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายโควิด อาจกระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศเมียนมา และเกรงว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะตกค้างอยู่นานดังเช่นกรณีค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่พักพิงชั่วคราว) 9 แห่ง จึงต้องการให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่อยู่เฉพาะภายใต้การควบคุมของกองทัพเพื่อที่จะผลักดันออกไปให้เร็วที่สุด โดยมิให้สื่อมวลชน องค์กรมนุษยธรรม องค์การระหว่างประเทศ ประชาชนไทยรวมถึงหน่วยงานรัฐอื่นได้เข้าถึง
การรับมือกับผู้ลี้ภัยของฝ่ายความมั่นคงไทยในเวลาต่อมาไม่ต่างจากเดิมนัก เช่นกรณีรับมือกับผู้ลี้ภัยจากการโจมตีทางอากาศระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2564 คืออนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่แรกรับหรือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามจุดต่าง ๆ ในอำเภอแม่สะเรียงได้เพียง 1 -2 วัน จากนั้นเริ่มผลักดันกลับโดยให้เหตุผลว่าไม่มีการสู้รบและไม่มีการโจมตีทางอากาศทางฝั่งรัฐกะเหรี่ยงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย และผู้ลี้ภัยได้ร้องขอพักพิงอยู่จนกว่าจะสงบมาโดยตลอดก็ตาม อีกทั้ง รายงานตัวเลขผู้ลี้ภัยของหน่วยงานความมั่นคงในทุกระลอกยังน้อยกว่าจำนวนที่คนท้องถิ่นนับได้ การรายงานตัวเลขที่น้อยกว่าความเป็นจริง ส่งผลต่อการกำหนดแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม และการประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่จริง
ทำนองเดียวกันนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยของภาคประชาสังคมเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานความมั่งคงให้เข้าถึงพื้นที่พักพิงชั่วคราว การส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความปลอดภัย ตัวอย่างเช่น วันที่ 5 เมษายน 2564 กองทัพไทยเริ่มอนุญาตให้ขนส่งความช่วยเหลือทางเรือไปยังผู้พลัดถิ่น ณ ค่ายอีตู่ท่า และจุดต่าง ๆ ริมน้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงได้ และจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ประกาศเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า 5 จุด ซึ่งถูกปิดมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่กลับมีข้อกำหนดว่า การบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ต้องทำผ่านสำนักงานกาชาดแม่ฮ่องสอนและกิ่งกาชาด อำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม หรือ อำเภอปาย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นผู้นำส่งมอบ แต่ด้วยการประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ไม่ทั่วถึงและไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสน มีประชาชนที่ต้องการบริจาคทั้งของแห้งและของสดไปที่จุดผ่อนปรนทางการค้า แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่รับฝาก นอกจากนี้ ภายหลังยังพบว่ามีสิ่งของบริจาคจำนวนมากติดค้างอยู่ที่กิ่งกาชาด อำเภอแม่สะเรียง และกิ่งกาชาดที่อื่นตามประกาศของทางหน่วยงานความมั่นคง ภาคประชาสังคมในพื้นที่สะท้อนว่ากลไกดังกล่าวนี้ค่อนข้างช้า ไม่สามารถช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นได้ทันการณ์ ต้องขนถ่ายสิ่งของซ้ำซ้อนหลายรอบ ทำให้การขนส่งของบริจาคเป็นไปได้ยากกว่าเดิม เพราะการขนส่งของทั้งหมดต้องลำเลียงในเส้นทางลำน้ำสาละวินอยู่ดี
นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 17, 20 และ 22 เมษายน 2564 มีรายงานว่าทหารเมียนมาในบริเวณฐานดากวิน ฝั่งตรงข้ามกับบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอสบเมย ได้ยิงสกัดเรือของประชาชนไทยจากบ้านแม่สามแลบที่ขนส่งสินค้า เพื่อเรียกตรวจสินค้า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกฎระเบียบต้องแวะจอดเพื่อให้ทหารเมียนมาตรวจสอบแต่อย่างใด และมีรายงานการยิงสกัดอีกครั้งหลังจากนั้นเพียง 3 วัน ยิ่งไปกว่านั้น มีการยิงเรือชาวบ้านแม่สามแลบที่มีตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อยที่ 337 จำนวน 4 นายโดยสารอยู่ รวมถึงมีกรณีที่เครื่องบินรบของเมียนมาบุกโจมตีทหารกะเหรี่ยงที่กระจายตัวอยู่รอบฐานดากวินของเมียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 โดยประชาชนไทยในหมู่บ้านท่าตาฝั่งได้ยินเสียงจากอากาศยาน เสียปืนใหญ่ และปืนกลดังสนั่น มีการตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องบินรบอาจบินอยู่เหนือน่านฟ้าบ้านท่าตาฝั่ง อย่างไรก็ตาม ทางการไทยไม่มีการตอบโต้กลับของการกระทำของทหารเมียนมา เหตุนี้เหล่านี้ ทำให้หน่วยความมั่นคงไทยถูกตั้งคำถามถึงบทบาทในด้านรักษาอธิปไตยและต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ผู้พลัดถิ่นในเมียนมาและผู้ลี้ภัยในไทยกำลังเผชิญ
ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ลงนามในคำสั่งที่ 1031/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานประสานงาน ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ประกอบด้วยตัวแทนจากมีภาคประชาชน 5 องค์กร UNHCR หน่วยงานด้านสาธารณสุข ฝ่ายทหาร ฝ่ายการปกครอง แต่ภารกิจของคณะทำงานฯ และแผนการทำงานที่จัดทำร่วมกันจำกัดอยู่เฉพาะการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ข้ามมาฝั่งไทยแล้ว ไม่ครอบคลุมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาด้วย รวมถึงแม้ว่า สมช.มีคำสั่งอย่างไม่เป็นทางการให้มีการช่วยเหลือได้ แต่จากบันทึกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ณ พบว่า รัฐไทยโดยกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่อนุมัติแผนกงานตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จัดทำเสนอ และจนปัจจุบันรัฐไทยยังคงไม่มีแนวนโยบายให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน ความช่วยเหลือที่ภาคประชาสังคมส่งเข้าไปให้ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ทั้งอาหาร ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็น ยังคงขาดมาตรการจัดการในระยะยาว เป็นเพียงการดำเนินการผ่านช่องทางไม่เป็นทางการโดยอาศัยความสัมพันธ์ของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน บางครั้งมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการลำเลียงความช่วยเหลือข้ามไปยังฝั่งเมียนมา
สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา ได้ลงนามในคำสั่งเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดนบ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คำสั่งดังนี้ทำให้ประชาสังคมไทยสามารถลำเลียงความช่วยเหลือส่งไปให้ผู้พลัดถิ่นผ่านจุดผ่อนปรนทางการค้าได้ ซึ่งการเปิดจุดผ่อนปรนนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวปฏิบัติที่ดีในให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมาที่พรมแดนติดต่อกับประเทศไทยในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ตราบที่ยังไม่มีแนวปฏิบัติระดับชาติและระดับท้องถิ่นว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยที่ชัดเจน ก็คงไม่มีหลักประกันได้ว่า การลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในฝั่งเมียนมาจะไม่มีเหตุสะดุดดังที่เคยเกิดมาแล้ว อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนโดยยึดหลักการไม่ผลักดันกลับและการส่งกลับโดยสมัครใจ
5. สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง
เนื่องจากผู้ลี้ภัยจากเมียนมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพักพิงอย่างปลอดภัยในพื้นที่รองรับบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งหวาดกลัวการถูกจับกุม ผลักดัน (refoulement) และส่งกลับ (deportation) โดยรัฐไทย ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งได้เดินทางผ่านเส้นทางธรรมชาติเข้ามาหลบภัยในเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ และต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกับผู้ลี้ภัยในเมืองกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ เสี่ยงต่อการถูกจับและกักขัง เนื่องจากผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมานั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกส่งกลับเพื่อเผชิญกับภัยประหัตประหารที่เขาหลบหนีมาอีกครั้ง เนื่องจากผู้ลี้ภัยจากเมียนมามักโดนเหมารวมว่าเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายและละเมิดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโดยไม่มีการพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงและความจำเป็นที่ต้องหลบหนีภัยประหัตประหารมา ซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณชายแดนไทยเมียนมา
ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงตัวเลขของผู้ลี้ภัยในเขตเมืองมีมากกว่านั้น นอกจากนี้หลังเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังทำมีผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกทางการเมือง นักกิจกรรม/ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายค้าน ที่ต่อต้านการรัฐประหาร และมีความคิดเห็นแตกต่างกับรัฐบาลทหาร ต้องมีการหลบหนีภัยการถูกจับกุมคุมขังและการประหัตประหารออกจากเมียนมามาลี้ภัยในประเทศไทย เช่น การลี้ภัยมายังประเทศไทยของนักข่าวจากสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 แต่ผู้ลี้ภัยไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย
อนึ่ง รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีระดับนานาชาติ กล่าวคือ ในปี 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้ให้คำมั่นในที่ประชุมสุดยอดโลกของผู้นำในประเด็นวิกฤตผู้ลี้ภัยระดับโลก (The Leaders’ Summit on Refugees) ว่า ประเทศไทยจะยุติการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวในไทย และจะจัดทำกลไกคัดกรองผู้ลี้ภัยระดับชาติที่เป็นผล เพื่อจำแนกผู้ลี้ภัยออกจากผู้เข้าเมืองด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักการไม่ส่งกลับ นอกจากนั้น ประเทศไทยรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration) และรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนธันวาคม 2561
การประชุมเวทีผู้ลี้ภัย Global Refugee Forum ครั้งแรกที่เมืองเจนีวา พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ให้คำมั่นอีกครั้งต่อประชาคมโลก เมื่อวันที่ 16- 18 ธันวาคม 2562 ดังนี้
1. การดำเนินการต่อเนื่องเพื่อรองรับวุฒิการศึกษาและเอกสารทางการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยการสู้รบจากเมียนมา
2. การให้โอกาสในการทำงานสำหรับผู้ที่เดินทางกลับไปแล้วตามกฎระเบียบของไทย และการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าก่อนเดินทางกลับเมียนมา
3. การพัฒนาความร่วมมือในกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยการสู้รบจากเมียนมา
4. แนวทางการใช้การพัฒนาเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัยการสู้รบจากเมียนมาและชุมชนท้องถิ่น
5. การเสริมสร้างความสามารถและทักษะที่จำเป็นให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการนำระบบคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศออกจากผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจมาปฏิบัติ
6. การนำมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังเด็กที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. การจัดให้เด็กที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศในประเทศไทยเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพที่เหมาะสม
8. การส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยไม่เลือกปฏิบัติภายใต้ โครงการ“ยุติธรรมใส่ใจ”
จากคำมั่นในเวทีระหว่างประเทศ นำไปสู่การดำเนินงานหลักเรื่องผู้ลี้ภัย สองประการ ได้แก่
1) ในวันที่ 21 มกราคม 2562 การจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ (ATD MOU) ซึ่งมีการลงนามโดยหน่วยงานของรัฐเจ็ดหน่วยงาน
2) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 มีการประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ซึ่งกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ถือเป็นการสร้างกลไกการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism) แม้ประเทศไทยจะมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธีสารเลือกรับ ค.ศ. 1967 แต่ระบบคัดกรองนี้จะทำให้บุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศสามารถพำนักในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวอย่างถูกกฎหมาย และทำให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยมีเสถียรภาพมากขึ้น
6. ความจำเป็นในการช่วยเหลือและผลดีต่อรัฐบาลไทยในการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยจากเมียนมา
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและทางอาวุธในชาวเมียนมาที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนจากเมียนมามีความจำเป็นต้องหลบลี้หนีความรุนแรงและภัยประหัตประหารเข้ามาแสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ชายแดนและในเขตเมือง แต่พวกเขาเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพักพิงอย่างปลอดภัยในประเทศไทย พวกเขาทำได้แค่หลบภัยอยู่ฝั่งเมียนมาติดชายแดนไทย เพื่อให้สามารถหลบเข้าไทยได้เร็วที่สุดหากมีการสู้รบหรือทิ้งระเบิดใกล้แนวชายแดนอีก นอกจากนี้ ยังมีชาวเมียนมาและชาวกะเหรี่ยงบางคนที่สามารถหลบเข้ามาในเขตเมือง แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบซ่อน ด้วยความกลัวจะโดนจับและส่งกลับเมียนมาแล้วไปเผชิญกับภัยประหัตประหารที่พวกเขาเพิ่งหลบหนีมาอีกครั้งหนึ่ง มีข่าวการจับกุมนักข่าว หรือแรงงานหลบหนีเข้าเมืองจากเมียนมาเป็นระยะ โดยภาคประชาสังคมไม่อาจเข้าถึงคนกลุ่มนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้สะดวกนัก และไม่อาจยืนยันได้ว่ากลุ่มที่กล่าวว่าเป็นแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หรือจะเป็นกลุ่มคนที่หนีการสู้รบ และการรัฐประหารมาจากประเทศเมียนมา ตัวแทนภาคประชาสังคมเห็นควรว่ารัฐบาลควรต้องดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือและการจัดการผู้ลี้ภัยตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและหลักการด้านมนุษยธรรม ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้จะส่งผลดีต่อรัฐไทย ดังนี้
1. การป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างได้ผล รัฐไทยจะต้องทราบจำนวนผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่แน่นอน สามารถทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้การรักษาหากพบเชื้อ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการของรัฐในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การป้องกันการที่ผู้ลี้ภัยจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เนื่องจากไม่มีมาตรการให้ความคุ้มครอง จึงอาจมีผู้ฉวยโอกาสแสวงประโยชน์จากผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็ก และผู้หญิงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยถูกจัดอันดับตามรายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons (TIPs) report ในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List)
3. ภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐไทยบนเวทีโลก ตามที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นในเวทีโลกเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัย เช่นในที่ประชุมสุดยอดโลกของผู้นำในประเด็นวิกฤตผู้ลี้ภัยระดับโลก (The Leaders’ Summit on Refugees) ในปี พ.ศ. 2559 และใน Global Refugee Forum ในปี พ.ศ. 2562 ในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย อีกทั้งข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในเรื่องผู้ลี้ภัยต่อการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย Universal Periodic Review (UPR) ตั้งแต่รอบที่1 และ 2 เช่น การเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) การตอบสนองความต้องการการคุ้มครองสำหรับผู้เสี่ยงภัย และการเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่ลี้ภัย การตั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมา จะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศอาเซียน
7. ข้อเสนอแนะในการให้ความช่วยเหลือและการจัดการผู้ลี้ภัย
ตัวแทนภาคประชาสังคมมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในการจัดทำนโยบายให้ความช่วยเหลือและการจัดการผู้ลี้ภัยตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและหลักการด้านมนุษยธรรม ที่เป็นทางการ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถให้ความช่วยเหลือและบริหารจัดการผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นระบบทั้งในสถานการณ์ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้
1. รัฐไทยต้องยึดมั่นและดำเนินการตามหลักการไม่ผลักดันกลับ (the principle of non-refoulement) โดยต้องคำนึงถึงภาพรวมสถานการณ์ว่า หากสถานการณ์การสู้รบยังไม่สงบจริง รัฐไทยต้องไม่ผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัย ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่วงเวลานั้น ๆ สถานการณ์การสู้รบสงบ (ชั่วคราว) แล้ว ดังที่ได้กระทำมาโดยตลอด
2. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น และควรต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยในประเทศไทย อันถือเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของทั้งสองพื้นที่ในระยะยาว โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชายแดนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกัน ให้สามารถนำส่งความช่วยเหลือผ่านทางจุดผ่อนปรนการค้าหรือผ่านเครือข่ายประชาชนได้
3. ดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรดำเนินการในวาระเร่งด่วนสำหรับประการที่ 4 ที่อาเซียนจะต้องส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมียนมา
4. รัฐไทยรับรองคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา และแผนงานที่เสนอโดยคณะทำงานเฉพาะกิจฯ และมีการให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ที่มีผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนด้วย เช่น บริเวณชายแดนฝั่งตรงกันข้ามเขตกองพล 7 (พะอัน) เขตกองพล 6 (ดูปลายา) และรัฐกะเรนนี
การตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ในแต่ละพื้นที่ให้สัดส่วน ดังนี้
1) ภาคประชาสังคม โดยมีตัวแทนจาก องค์กรชุมชนในพื้นที่ชายแดน กลุ่มที่ติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศและผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด องค์กรด้านกฎหมาย ด้านการดูแลสภาพจิตใจและสังคม และตัวแทนจากหน่วยงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระดับพื้นที่
2) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอและจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการเพื่อที่จะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค รวมถึงหน่วยงานด้านมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือ
ภารกิจคณะทำงานเฉพาะกิจฯ
ให้กำหนดขอบเขตภารกิจครอบคลุมถึงการช่วยเหลือทั้งผู้ลี้ภัยที่อยู่ในฝั่งไทยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และในการดำเนินการใดๆ ของคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ฝั่งไทย ควรต้องมีการประสานงาน รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมที่เป็นตัวแทนของคนท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนด้วย
ทั้งนี้ ให้คณะทำงานเฉพาะกิจฯ มีภาระหน้าที่ในการ
(1) ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจำนวนผู้ลี้ภัย
(2) ประสานความช่วยเหลือตามสถานการณ์ข้อ และจัดทำแผนการช่วยเหลือ เช่น อาหาร น้ำ สุขอนามัย การสาธารณสุข และที่พักพิง
(3) จัดทำบัญชีรายการสิ่งของและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับของบริจาค และการจัดส่งความช่วยเหลือ
5. รัฐไทยต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย โดยอ้างเหตุแห่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือความสมัครใจกลับของผู้ลี้ภัย กรณีผู้ลี้ภัยที่เข้ามาตามแนวชายไทย-เมียนมา ให้รัฐไทยพิจารณาว่าทุกคนมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยจริงตามหลักการ Prima facie ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ห้ามปฏิเสธการคุ้มครอง และห้ามผลักดันกลับโดยเด็ดขาด อีกทั้งป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในเขตเมืองและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและควบคุมโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ
ในการคุ้มครองและจัดการดูแลผู้ลี้ภัย หน่วยงานความมั่นคงไทยต้องเปิดให้ผู้ลี้ภัยได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐไทยจัดไว้รองรับตามหลักมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนจนกว่าสถานการณ์จะสงบ และต้องมอบความรับผิดชอบให้กระทรวงมหาดไทยในระดับอำเภอและจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการเพื่อที่จะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทในด้านงานควบคุมโรค รวมถึงหน่วยงานด้านมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน
6. รัฐไทยควรอนุญาตให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัย โดยมีมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
7. ในกรณีมีการจับกุมและมีการดำเนินคดี ให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงทนายความและสามารถปรึกษากับทนายความได้เป็นการส่วนตัว อนุญาตให้ประกันตัวได้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นภาระเกินควร และผู้ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการขอเข้าเยี่ยมจากบุคคลที่ตนไม่ต้องการพบได้
8. ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาควรสามารถเข้าถึงกลไกการคัดกรองระดับชาติและมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อรับสถานะเป็น “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562
9. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้มีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค การรักษาโรค รวมทั้งการได้รับวัคซีนป้องกันโรค
10. รัฐไทยควรดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ด้วยความสมัครใจ มีความพร้อม และเมื่อมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง การตัดสินใจที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับประเทศต้นทาง จะต้องเป็นการพิจารณาร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย โดยประสานงานร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจฯ มิใช่บทบาทหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียวดังที่ผ่านมา เพราะความมั่นคงต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
11. รัฐไทยควรเปิดเผยข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมาอย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ ไม่บิดเบือนปกปิดจำนวนผู้ลี้ภัยหรือการให้ความช่วยเหลือที่แท้จริงจากภาครัฐ รวมทั้งกำหนดความรับผิดชอบ นโยบาย และโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจนแก่หน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการรับมือสถานการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน
เชิงอรรถ
[1] ในเอกสารนี้จะใช้คำว่า “ผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ (internally Displaced Persons: IDPs)” กับผู้หนีภัยการประหัตประหารโดยกองทัพเมียนมาทั้งหมดขณะที่อยู่ในประเทศเมียนมา และจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” เมื่อผู้หนีภัยการประหัตประหารทุกคนที่ข้ามมายังเขตแดนประเทศไทย
[2] ต่อไปนี้ ผู้ลี้ภัย หมายถึงผู้ที่มีข้อเท็จจริง(de facto)เป็นผู้ลี้ภัย ตามคำนิยาม “ผู้ลี้ภัย” ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
[3] https://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/Myanmar%20emergency%20update%201%20July%202021.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564)
[4] https://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/OCHA%20Myanmar%20-%20Humanitarian%20Update%20No.9.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564)
0 comments on “สรุปสถานการณ์และข้อเสนอแนะ: การดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการปัญหาของประชาชนจากประเทศเมียนมาที่เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา และที่กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทย”