ต้นฉบับจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews https://greennews.agency/?p=21900
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563
นักปกป้องสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกต ชุดแนวทางใหม่ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการป้องกันแก้ไขความเสี่ยงผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนลำน้ำโขง มีหลักการดี แต่ควรมีหลักการเช่นนี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว พร้อมแสดงความกังวลว่าจะมีการนำชุดแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้อย่างไร หวั่นอาจถูกนำไปใช้ “ฟอกเขียว” สร้างความชอบธรรมในการผลักดันโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่าง
เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2563 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ได้ออกประกาศ ชุดแนวทางการแก้ปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (MRC’s Hydropower Mitigation Guidelines) อันจะเป็นชุดข้อเสนอเชิงเทคนิคล่าสุด ที่ตั้งเป้าเป็นเครื่องมือช่วยให้ ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า บริษัทที่ปรึกษาโครงการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากเขื่อน ตลอดช่วงระยะเวลาโครงการ
ชุดแนวทางดังกล่าว ประกอบด้วยข้อเสนอเชิงเทคนิค 3 ชุด มุ่งเน้นไปยังการแก้ปัญหาความเสี่ยงจากการพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคำนึงถึง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อุทกศาสตร์และการไหลของแม่น้ำ, ธรณีสัณฐานและการไหลของตะกอน, คุณภาพน้ำ, การประมง ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ, ทรัพยากรธรรมชาติ, และนิเวศบริการ (ecosystem service) โดยจะครอบคลุมการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ช่วงการออกแบบโครงการ ช่วงการก่อสร้าง ไปจนถึงช่วงเปิดใช้งานโครงการเต็มรูปแบบ
“ชุดแนวทางการแก้ปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฉบับนี้มีจุดประสงค์หลัก เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการแม่น้ำทั้งลุ่มน้ำ” เลขาธิการ MRC ดร. An Pich Hatda กล่าว
เลขาธิการ MRC เสริมว่า ชุดแนวทางใหม่นี้ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้ ระเบียบหลักเกณฑ์การออกแบบโครงการเบื้องต้น (Preliminary Design Guidance: PDG) ของ MRC ซึ่งเป็นข้อกำหนดโครงการที่ผู้พัฒนาโครงการในลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องปฏิบัติตาม มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ดร. Hatda ย้ำว่า แม้ว่าเราจะมีชุดข้อเสนอที่ครอบคลุมในการป้องกันและแก้ไขความเสี่ยงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงแล้วก็ตาม การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั่วทั้งภูมิภาคต่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันผลกระทบรุนแรงจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า แม้ว่าชุดแนวทางฉบับนี้ อ่านแล้วดูดี มีหลักการ มีเนื้อหาครอบคลุมการประเมินและบรรเทาความเสี่ยงและผลกระทบของเขื่อนในด้านต่างๆ ทั้งอุทกวิทยา การระบายน้ำสู่ท้ายน้ำ ตะกอนแร่ธาตุ ประมงและชีววิทยา ตลอดจนนิเวศบริการ เป็นคำแนะนำสำหรับโครงการเขื่อนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง และเปิดใช้งานเขื่อน จึงทำให้สงสัยว่าทำไม MRC จึงเพิ่งมาออกชุดแนวทางตอนนี้ ทำไมไม่ทำตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ก่อนที่เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจะลงมือก่อสร้าง ก่อนที่ความเสียหายทั้งหลายที่กำลังเกิดกับแม่น้ำโขงนี้จะเริ่มขึ้น
เพียรพร กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ค่อนข้างเป็นห่วงคือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะนำไปใช้หรือไม่ เพราะหลายกรณีตลอดเวลาทศวรรษที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าการตัดสินใจเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง ไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลหรือความรู้ หรือหลักของความจำเป็น แต่กลับเป็นไปตามผลประโยชน์หรือไม่
“น่ากังวลที่สุดคือ จะกลายเป็นการฟอกเขียว (green wash) ให้แก่โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่กำลังถูกผลักดัน หรือไม่ อาทิ สานะคาม ปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสร้างเลย” เธอกล่าว
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2563 นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เปิดเผยถึงหารือถึงข้อกังวลต่อแนวโน้มการให้เงินกู้ต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ระหว่างภาคประชาชนเครือข่ายแม่น้ำโขง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีผู้แทนธนาคารธนาคารพาณิชย์อีก 6 แห่งเข้าร่วม เพื่อให้ธนาคารพิจารณาออกสินเชื่อโครงการลงทุนอย่างมีธรรมาภิบาล
นิวัฒน์ กล่าวว่า การพบกับธปท. และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง เพื่อแจ้งให้ธนาคารได้รับทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วกับแม่น้ำโขงจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และหาแนวทางร่วมกันในการที่จะปกป้องแม่น้ำโขง โดยหวังว่าธนาคารต่างๆ จะปรับมาตรการในการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ให้สอดคล้องตามแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน (sustainable banking)
“วันนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ความเสี่ยงด้านสังคมสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนไซยะบุรี บริษัทไม่เคยทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งหมดนี้ยังคงมีความเสี่ยง และมากขึ้นที่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพราะเป็นเมืองมรดกโลก” เขากล่าว
“นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์หลักของลาวในขณะนี้คือ จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาว ลาวมีความเสี่ยงที่จะจ่ายเงินกู้คืนให้แก่เจ้าหนี้ไม่ได้ จีนอาจจะเข้ามาจัดการระบบสายส่งไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ ในลาว อยากตั้งคำถามว่าทำไมธนาคารไทยจึงอยากเข้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ และอยากให้ธนาคารพิจารณาทบทวน”
0 comments on “จับตา “ฟอกเขียว” เขื่อนโขง MRC ออกไกค์ไลน์ใหม่ป้องกันผลกระทบเขื่อนตลอดอายุโครงการ”