นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะหลังทราบมติ กสม. กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก
—————————-
จากกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก จนเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงแก่ประชาชนลาวในพื้นที่เขื่อน และผลกระทบยังกระจายเป็นวงกว้างไปถึงประชาชนในกัมพูชาด้วย คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบ จนในที่สุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีมติ ยุติการตรวจสอบ พร้อมชี้แจงว่า การที่โครงการอยู่ในพื้นที่ สปป.ลาว ทําให้การตรวจสอบและกํากับดูแล ผลกระทบจากการดําเนินโครงการย่อมอยู่ภายใต้อํานาจและหน้าที่ของ สปป.ลาว คณะกรรมการสิทธิ์ มนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจดําเนินการตรวจสอบการกระทําหรือการละเลยการกระทําของผู้ถูกร้อง อันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ได้ และเห็นควรยุติการตรวจสอบ ดังกล่าว
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จึงได้ให้ความเห็นต่อ รายงานตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิ กรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ครั้งนี้ว่า
“ถือว่าเป็นความไม่เข้าใจภารกิจที่ถูกต้องของคณะกรรมการสิทธิฯ เพราะคณะกรรมการสิทธิ์ มีหน้าที่หลักคือการไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิของมนุษยชน มันต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบ แล้วจะไปเสนอแนะได้อย่างไร จะละเลยหน้าที่นี้ไม่ได้ หากจะทำข้อเสนอแนะต้องเสนอมีข้อเสนอแนะทางนโยบายและกฎหมายในการตรวจสอบให้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเขา (กสม.) ยังไม่เข้าใจเรื่องพันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้ไปเซ็นสัญญาทั้งระดับสากลและและสถาบันเอาเซียน พันธนกรณีได้ตราไว้ชัดเจนว่า หากประเทศไทยได้ไปเซ็นสัญญากับประเทศอื่นไว้ และมีการลงปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้แล้ว เราต้องมาดูว่ามีการอำนาจการตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน และสิทธิของประชาชนมีปัญหาอะไรและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ไม่ใช่ยุติการตรวจสอบในประเทศอื่น ๆ เพียงแค่กังวลว่าจะไปก้าวก่ายกรณีของการเมือง เพราะเราไม่ได้ไปตรวจสอบรัฐบาลของแต่ละประเทศ แต่ไปลงทุนตรวจสอบการลงทุนของบริษัทไทย เป็นผลของการทำของธุรกิจไทยและธนาคารไทยไปลงทุนปล่อยกู้ ซึ่งเข้าหลักของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ว่าด้วยการคุ้มครองและรับผิดชอบและต้องไปชดเชยเยียวยา กระบวนการตรวจสอบไม่ใช่ไปแทรกแซง การทำงานของรัฐบาลนั้น นอกจากไม่แทรกแซงแล้ว เรายังมีการแจ้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ของประเทศนั้นให้ทราบด้วย

ที่ผ่านมากรณีอาเซียน ไม่ได้แค่มีหลักด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นให้ช่วยเหลือด้านสิทธิ มนุษยธรรม และความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควร แต่เมื่อมีกรณีการฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี เป็นคดีข้ามพรมแดนที่ศาลก็ยอมรับ เพราะกรณีน้ำโขงนั้นมันเป็นแม่น้ำนานาชาติ และเป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปยึดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Guideline) ซึ่งเน้นเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม และไม่พ้นหลักและกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ไปลงนามที่ New York
กรณีที่รายงานระบุว่า ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบนอกอาณาเขตนั้น เป็นการตรวจสอบที่หน่อมแน้ม ต้องทำความเข้าใจการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการจับผิด แต่เป็นเรื่องการตรวจสอบที่ต้องหาข้อผิดพลาด เพื่อให้เกิดการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการลงทุน แม้การสร้างเขื่อน จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่มใหม่หรือไม่หากประเทศมีทางเลือกด้านพลังงานอื่น การตรวจสอบนั้นจึงจำเป็นและต้องเกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นทางเลือกการพัฒนา เพื่อดูจุดแข็ง จุดอ่อน และเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย นักธุรกิจไทย และให้รัฐบาลนั้นได้เข้ามาพิจารณา
สิ่งที่แก้ไขให้พ้นการทำงานแบบสมยอมและห่วงภาพลักษณ์ คือต้องทำงานเชิงระบบและเครือข่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่นสมัยที่ผมทำงาน มีคณะกรรมการสิทธิอาเซียน เมื่อต้องไปตรวจสอบกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่าก็ไปร่วมกับคณะกรรมการสิทธิฯ ของพม่า และอาเซียนด้วยกรณีการลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีอุดรมีชัย ก็มีคณะกรรมการสิทธิฯของอาเซียนและภาคประชาสังคมในประเทศมาร่วมทำงานด้วย และเป็นการทำงานที่เปิดเผย เป็นทางการไม่หลบซ่อน เรามีเครือข่ายของทั้งอาเซียน และมีภาคประชาสังคมในพื้นที่ลงทำงานร่วมกัน จึงทำให้การลงพื้นที่เข้าไปดูนั้นสามารถทำได้ เป็นการลงไปดูและพูดคุยกับชาวบ้านว่าเขาเป็นอย่างไร จริงเท็จอย่างไร/ เหล่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องทำงานกันเป็นเครือข่ายการประสานงานร่วมกัน เป็น Network ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของคณะกรรมการสิทธิ์มีศักดิ์ศรีมากขึ้นเพื่อทำงานร่วมกันในอนาคต
สัมภาษณ์โดย ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน(ETOs Watch Coalition)
——————————————————————-
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย
แนะนำให้รู้จัก เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1059208
ประเด็นสำคัญและธรรมาภิบาลความรับผิดชอบ: กรณี เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตก
สถานการณ์และความคืบหน้า กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตก ที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว
0 comments on “อดีต กสม. แนะ กสม.ต้องคำนึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ”