Dams Loas news NHRC UNGP and NAP

กสม.แจง การตรวจสอบเขื่อนลาวแตกอยู่นอกอำนาจรับผิดชอบ

จากกรณีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ของสปป.ลาว ได้เกิดเหตุการณ์เขื่อนปิดกั้นช่องเขาต่ำ หรือ Saddle Dam D ซึ่งเป็นเขื่อนดิน กว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตร ได้ทรุดตัวและพังทลาย ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเซน้ำน้อยกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเซเปียน ไปจนถึงชุมชนบริเวณแม่น้ำเซกอง ในกัมพูชา

เพียงแค่เฉพาะในลาว พบว่ายอดผู้ได้รับผลกระทบจากตัวเลขทางการของรัฐ จนถึงเดือน ตุลาคม 2561 เป็นระยะเวลา 4 เดือนนับแต่เกิดเหตุ  ยอดผู้เสียชีวิต 43 ศพ เป็นเด็กต่ำกว่าอายุ 10 ปี 15 ศพ เป็นผู้หญิง 19 ศพ และยังสูญหาย 28 คน   มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ทั้งหมด 19 หมู่บ้าน จำนวน 3,540 ครอบครัว ประชาชนจำนวน 14,440 คน ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีบ้านเรือน 957 หลังคาเรือน และ 1,127 ครอบครัว ประชากร 4,560 คน  ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดใน 6 หมู่บ้านเสียหายทั้งหมด  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 รัฐบาลลาวได้ประกาศยุติการค้นหาผู้สูญหายอย่างเป็นทางการ (Vientiane Time, 23 ตุลาคม 2561)

ซากบ้านที่ถูกน้ำพัดอย่างรุนแรงจนพลิกตะแคง จากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ถ่ายภาพโดย วิศรุต แสนคำ เมื่อ 25 ตุลาคม 2561 จากเว็บไซต์สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ Lao Holading State Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของลาว และกลุ่มบริาัทสัญชาติเกาหลีใต้ คือ SK Engineering and Construction และ Korea Western Power โดย 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งขายให้ กฟผ.

จากพิบัติภัยดังกล่าว คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรม เห็นว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของผู้พัฒนาโครงการ ทั้งด้านการบริหารจัดการเขื่อน และความผิดพลาดในการก่อสร้างทางวิศวกรรม ทำให้เกิดความสูญเสียทางชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่บางส่วนเป็นชาติพันธุ์ อีกทั้งยังขาดหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงยื่นคำร้องตอ่คณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบและกำกับให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทผู้ดำเนินโครงการที่เป็นสัญชาติไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบต่อความเหตุการณ์เขื่อนแตกดังกล่าว ตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (อ่านเพิ่มเติม รายงานตรวจสอบกรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย )

ซึ่งมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในกรณีนี้ ได้อ้างถึงการประชุม ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นต่อกรณีนี้ ดังนี้

  1. ผู้ถูกร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน สปป.สาว ได้เร่งดําเนินการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ โดยรอบเขื่อนดังกล่าวไปยังสถานพักพิงชั่วคราว โดยผู้ถูกร้องใต้มอบเงินสนับสนุนช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ทางการ สปป.ลาว และถึงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้ประสบภัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การให้ความช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยระหว่างการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายในพื้นที่แล้ว
  2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน – เซน้ำน้อยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทําให้การตรวจสอบและกํากับดูแล ผลกระทบจากการดําเนินโครงการย่อมอยู่ภายใต้อํานาจและหน้าที่ของ สปป.ลาว คณะกรรมการสิทธิ์ มนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจดําเนินการตรวจสอบการกระทําหรือการละเลยการกระทําของผู้ถูกร้อง อันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ตามคําร้องนี้ได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39(2) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสั่งยุติเรื่อง หากในกรณีที่มีความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นควรยุติเรื่อง 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีข้อเสนอแนะ มาตรการ และแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ถูกร้อง (บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) หรือ บริษัท ราช กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (3) เพื่อดําเนินการต่อไป

ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี คือ ควรเร่งให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดําเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) จัดตั้งกลไกหรือหน่วยงานกลางที่มีอํานาจหน้าที่ในการกํากับดูแลและตรวจสอบการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทย ซึ่งรวมถึงผู้ถูกร้องในกรณีตามคําร้องนี้ ให้เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยนําหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) มาเป็นกรอบในการดําเนินธุรกิจอย่างจริงจึง และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามผลการดําเนินการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดต่อไป

ข้อเสนอแนะต่อธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเร่งส่งเสริมและพิจารณามาตรการให้ธนาคารพานิชย์ ให้ความสําคัญกับการประกอบธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้มีแนวทางการดําเนินกิจการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) ซึ่งกําหนด แนวทางในการประกอบธุรกิจของธนาคารพานิชย์ที่สอดคล้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) หรือแนวปฏิบัติอื่น ๆ ที่ยอมรับในระดับสากล และมีการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนการอนุมัติเงินกู้สําหรับการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอแนะต่อ บริษัท ราช กรุ๊ป คือ ผู้ถูกร้องควรนําหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ไปเป็นแนวทางในการดําเนินธุรกิจโดยการเคารพสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และกระบวนการเยียวยาความเสียหาย ที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจ รวมทั้งช่องทางสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแก่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้ความสําคัญกับการระงับเหตุข้อพิพาทกับชุมชน โดยการเจรจาหารือร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) 

อ่านข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสิทธิมุษยชนแห่งชาติต่อผู้เกี่ยวข้อง ตามเอกสารประกอบ ดังนี้สำเนาถึงนายกรัฐมนตรี , สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , สำเนาถึงบริษัทราชกรุ๊ป

จากมติดังกล่าว คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรม มีข้อสังเกตคือ

  1. การที่กสม.บอกว่าไม่มีอำนาจ โดยไม่ได้อ้างว่าถูกห้าม หรือไม่มีอำนาจตามมาตราไหน
  2. พระราชบัญญัตประกอบรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรื่องอำนาจหน้าที่ในมาตรา 33 ระบุว่า “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ” กล่าวคือ พรป. ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ภายใน’ ใช้คำว่า ‘ของประเทศ’ ดังนั้นการตีความอำนาจหน้าที่เช่นในกรณีนี้ของ กสม. จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และสถานการสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศ จะถือเป็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศหรือไม่ มติในครั้งนี้อาจสวนทางกับ National Action Plan ที่ถือประเด็นการประกอบธุรกิจและสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนเป็นประเด็นสำคัญ

—————————————

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

แนะนำให้รู้จัก เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ  https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1059208

ประเด็นสำคัญและธรรมาภิบาลความรับผิดชอบ: กรณี เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตก

จี้ต่อมคุณธรรม 4 แบงก์ไทย-ในฐานะปล่อยกู้สร้างเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ผู้เชียวชาญยูเอ็นร้องหาความยุติธรรมให้ผู้ประสบภัยเขื่อนแตกเมื่อ 2 ปีก่อน

ชาวลาวที่ประสบภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยยังไม่ได้ค่าชดเชย-อยู่อย่างลำบาก ส่วนใหญ่หนีออกจากศูนย์พักพิงไปสร้างบ้านเรือนเอง

สถานการณ์และความคืบหน้า กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตก ที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว

0 comments on “กสม.แจง การตรวจสอบเขื่อนลาวแตกอยู่นอกอำนาจรับผิดชอบ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: