เนื้อหาต้นฉบับโดย The Mekong Butterfly
สามารถเข้าถึงเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ https://themekongbutterfly.com/2019/11/08/%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%82%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b7%e0%b9%88/
เรื่องและภาพโดย
ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร
สำหรับชาวอุษาคเณย์และชาวจีน การดำรงอยู่ของขวัญ คือ การดำรงอยู่ของชีวิต หากไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ขวัญจึงเป็นแหล่งสถิตพลังแห่งชีวิตของพวกเขา
คำกล่าวข้างต้นมาจากข้อเขียนที่สำคัญของ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุษาคเณย์คนสำคัญของเมืองไทยที่มีข้อเสนอว่า ขวัญ เป็นสิ่งจำเพาะของชาวอุษาคเณย์ซึ่งแตกต่างกับจิตวิญญาณในความเข้าใจของตะวันตกหรือแม้กระทั่งพุทธศาสนา
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ชี้ให้เห็นลักษณะของขวัญว่า จริง ๆ แล้ว ขวัญไร้รูปร่าง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่อยู่อย่างกระจัดกระจายและสถิตอยู่ตามร่างกายของคนและสัตว์ หรือแม้กระทั่งสิ่งของ สถานที่ต่าง ๆ โดยขวัญดำรงอยู่ในสังคมอุษาคเณย์มาเป็นเวลากว่า 3,000 ปี เป็นอย่างน้อยจนถึงปัจจุบัน โดยเราสามารถพบร่องรอยของขวัญได้จากพิธีกรรมที่สำคัญตามงานมงคลและแม้กระทั่งงานอวมงคลต่าง ๆ เราจะพบเห็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในงานเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ และในงานที่สร้างขวัญและกำลังใจใครสักคนหรือกลุ่มคน ก่อนที่จะไปเผชิญกับสิ่งที่ไม่ขาดฝัน หรือหลังจากที่พวกเขาประสบหรือเผชิญกับเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ นานา
พิธีกรรมเอิ้นขวัญคืนโขงที่ชาวบ้านริมโขงกว่า 7 จังหวัด นับร้อยชีวิต ร่วมกันจัดขึ้นบนเรือขนส่งข้ามโขง บนแม่น้ำโขง บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อำเภอปากชม จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นวันเดียวกับที่เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนไทยสัญชาติลาว ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1285 เมกะวัตต์ ที่ขวางกั้นแม่น้ำโขงสายหลักอยู่ในขณะนี้ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 1220 เมกะวัตต์ และเป็นเวลาเดียวกับที่บนหน้าหนังสือพิมพ์หลายหัวถูกลงโฆษณาโปรโมทความสำเร็จของนักสร้างเขื่อนชาวไทย
เป็นวันแรกที่น้ำจากเขื่อนโขงถูกเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าให้กับคนไทยได้ใช้ และก็เป็นวันแรกที่นักลงทุนสัญชาติไทยสร้างผลกำไรจากการปั่นไฟและการขายหุ้นหลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งที่ถูกโหมประโคมจากการโฆษณาในทุกวิถีทางของบริษัทผู้พัฒนาโครงการพุ่งสูงขึ้น
เขื่อนไซยะบุรี นับเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติของคนโขงที่พวกเขาต้องเผชิญ ก่อนหน้านี้มีเขื่อนกว่า 9 แห่ง บนแม่น้ำโขงสายหลักตอนบนที่สร้างเสร็จแล้ว และมีการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าในหลายช่วง ส่งผลให้สถานการณ์แม่น้ำโขงแย่ลงเป็นลำดับ โดยปัญหาที่คนโขงพบเจอนั้นมีตั้งแต่การขึ้นลงที่ผิดปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล พื้นที่ตลิ่งพังทลาย การสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรริมโขงจำนวนมาก ตลอดจนจำนวนและพันธุ์ปลาที่หาได้ยากขึ้น ปลาบางชนิดไม่สามารถจับหรือพบเจอได้ง่ายเช่นเหมือนก่อน
ภัยพิบัติเช่นนี้รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง เริ่มทดลองกักเก็บน้ำในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเห็นผลชัดเจนในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม ที่แม่น้ำโขงลดต่ำกว่าปกติ ต่ำยิ่งกว่าหน้าแล้ง และที่แย่กว่านั้นแม่น้ำโขงบางจุดแห้งขอดจนอยู่ในภาวะที่เรียกว่าต่ำสุดในรอบ 50 ปี คนโขงหลายคนบอกว่าเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่พวกเขายังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้
นี่เป็นวิกฤตที่ประจักษ์แก่สายตาคนโขง
ขวัญของแม่น้ำโขงที่กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของลำน้ำถูกดึงออกไปอีกครั้งนับจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างถูกสร้างขึ้น แน่นอนว่าคงไม่ใช่ขวัญของแม่น้ำโขงเท่านั้นที่หลุดหายไป แต่รวมถึงขวัญของคนโขงเองที่หายไปด้วย เพราะขวัญโขงอันเป็นแหล่งที่มาของชีวิตคนโขงเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องด้วยวิถีแห่งชีวิต การหาอยู่หากิน พื้นฐานและต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมผูกติดอยู่กับแม่น้ำโขงอย่างเลี่ยงไม่ได้นับแต่บรรพบุรุษ
จึงไม่แปลกใจที่ขวัญของคนโขงหายไป และต้องเรียกคืนในวันที่เขื่อนจ่ายไฟฟ้า เพื่อยื้อพลังชีวิตของพวกเขาให้เผชิญและต่อสู้กับภัยพิบัติอีกหลายระลอกที่กำลังลุกลามเข้ามา เพราะดูจากแผนการพัฒนาแม่น้ำโขงแล้ว ที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างจ่อสร้างอีกหลายแห่ง อย่างน้อย ๆ ก็อีก 4 แห่ง ที่ทั้งผ่านแล้วและอยู่ในกระบวนการกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า อันได้แก่ เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง
พวกเขาคงต้องจัดพิธีเอิ้นขวัญโขงอีกไม่รู้กี่ครั้ง เมื่อพบว่าขวัญโขงที่กระจายอยู่ถูกตัดทอนออกไปทีละจุด แน่นอนว่าขวัญคนโขงที่ผนวกรวมกับแม่น้ำก็หลุดลอยหายไปเป็นส่วน ๆ นี่ยังไม่นับรวมขวัญส่วนอื่น ๆ ที่ถูกพรากไปแล้วตามลำน้ำสาขา











0 comments on “เอิ้นขวัญคืนโขงวันเขื่อนจ่ายไฟ”