ความเป็นมาโครงการ
โครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน –เซน้ำน้อย ตั้งอยู่พื้นที่ที่ราบสูงบอละเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสักและอัตตะปือ ของสปป.ลาว เป็นลักษณะโครงการแบบ BOT(Build-Opeate-Transfer) กำลังการผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ พร้อมเดินเครื่องเชิงพานิชย์(COD) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 354 เมกะวัต์ และขายให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าลาวมหาชน(EDL) 40 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระยะเวลา 27 ปี(2562-2589) เดิมมีแผนการก่อสร่าง 94 เดือนโครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท
ผู้พัฒนาโครงการประกอบด้วย บริษัทราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์(RATCH)บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (SK E&C) ถือหุ้น 26 เปอร์เซ็นต์ บริษัท โคเรีย เวสเทิรน์ พาวเวอร์ (KWECO) ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท ลาวโฮลดิ้ง เสตรท เอ็นเตอร์ไพรส์ (LHSE) ถือหุ้น 24 เปอร์เซ็นต์ ใช้งบการลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 22,000 ล้านบาท โดยมีสถาบันการเงินไทย 4 แห่ง ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม หรือ Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย EXIM BANK ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต โดยการพัฒนาโครงการใช้เงินทุนจากผู้ถือหุ้นประมาณ 9,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนทุนของบริษัทฯ ประมาณ 2,400 ล้านบาท จำนวนที่เหลือจะมาจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ส่วนการก่อสร้างโครงการมีบริษัท SK Engineering and Construction)เป็นผู้ดำเนินการ
[1]โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 บริษัท ไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย(PNPC) จำกัด ได้ลงนามสัญญาเงินกู้มูลค่า 22,134 ล้านบาท (ประมาณ 714 ล้านเหรียญสหรัฐ) กับสถาบันการเงินไทย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ได้ลงนามสัญญาจัดจ้างบริษัทSK Engineering and Constructionดำเนินการก่อสร้างโครงการ และมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จำกัด เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง บริษัท
ลักษณะองค์ประกอบของเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นแบบผันน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำมีอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยหมากจัน ขุดท่อผันน้ำให้หลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเซเปียน แล้วขุดท่อต่อ เพื่อผันน้ำจากเขื่อนเซเปียน ให้ไหลลงสู่เขื่อนเซน้ำน้อย แล้วเจาะอุโมงค์ผันน้ำลงสู่เรือนจักรปั่นไฟฟ้า แขวงอัตตะปือ และปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำเซกอง
1. อ่างห้วยหมากจั่น กว้าง 2.5 เมตร สูง 4.6 เมตร และยาว 30 เมตร พื้นที่เก็บน้ำ 81 ตารางกิโลเมตร
2. เขื่อนเซเปียนสูง 84 เมตร ยาว 1,037 เมตร พื้นที่อ่าง 217 ตารางกิโลเมตร เก็บน้ำได้ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. เขื่อนเซน้ำน้อยสูง 73.7 เมตร ยาว 1,600 เมตร พื้นที่อ่าง 522 ตารางกิโลเมตร เก็บน้ำได้ 1,043 ล้านลูกบาศก์เมตร




โครงการนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ที่บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งได้เข้าไปลงทุนในสปป.ลาว ก่อนหน้านั้นคือ โครงการเขื่อนน้ำงึม 2 แขวงเวียงจันทร์ ขนาดกำลังติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา แขวงไซยะบุรี กำลังติดตั้ง 1878 เมกะวัตต์
- สรุปเหตุการณ์เขื่อนย่อยเสริม D แตก S
[2]เมื่อวันอาทิตย์ 22 ก.ค 2561 เวลา 21.00 น.บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียร์ริง แอนด์ คอนสตรักชัน ได้ออกจดหมายเตือนทางการลาวว่า พบส่วนบนของเขื่อนเสียหาย ทางการสั่งชาวบ้านใกล้เขื่อนเริ่มอพยพ ทีมวิศวกรเข้าซ่อมแซม พยายามป้องกันน้ำล้นทะลักตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในช่วงนั้น มีฝนตกหนักมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ประกอบกับถนนทางเข้าหน้างานเสียหายหนัก การนำเครื่องมือหนักเข้าไปทำได้ล่าช้า
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ในช่วงกลางคืนเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเชื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนเซน้ำน้อย เกิดทรุดตัวลง ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยเกิดรอยร้าว
ขณะที่บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นฯ ชี้แจงว่าได้แจ้งเตือนทางการทันที แต่วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia – RFA) ภาคภาษาลาว รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. บริษัท เซเปียน-เซน้ำน้อย ได้แจ้งภาวะฉุกเฉินเตือนไปยังแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ว่า สันเขื่อน D กำลังอยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย อันเนื่องมาจากฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันในเขตการก่อสร้าง น้ำได้ท่วมล้นสันเขื่อน ถ้าหากสันเขื่อน D พังลงมา ปริมาณน้ำจำนวนมากกว่า 5 ล้านตัน จะไหลตามลำน้ำเซเปียน จึงขอให้แจ้งประชาชนที่อยู่เลียบลำน้ำดังกล่าวให้โยกย้ายออกไปเพื่อป้องกันความเสียหายเจ้าหน้าที่แก้ไขสภาวะฉุกเฉินน้ำท่วมแขวงอัตตะปือ กล่าวว่า ตามเหตุการณ์ได้รับแจ้งว่าเป็นการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในเวลา 15.00 น. แต่เมื่อสังเกตพบว่าปริมาณน้ำเกินขอบเขต และพบว่าเพียงแค่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงคือก่อนเวลา 17.00 น. ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงจากทางใต้และไหลเข้าท่วมเมืองสะหนามไซอย่างรวดเร็ว โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำเซเปียนซึ่งยังไม่ทันได้รับการแจ้งเตือนใดๆ ต่างก็หนีน้ำไม่ทัน บางส่วนขึ้นไปอาศัยอยู่ตามหลังคาบ้านเรือน สัตว์เลี้ยง หมู หมา เป็ด ไก่ ไหลไปตามกระแสน้ำ
ความเสียหายจากเหตุการณ์เขื่อนแตกคราวนี้ ท่านทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาว แถลงเมื่อเย็นวันที่ 25 ก.ค. ว่า พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย จำนวนผู้สูญหาย 131 ราย ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 3,060 คน จำนวน 587 ครอบครัว จาก 3 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ
ต่อมามีข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 6631 คน ใน 6 หมู่บ้าน คือ บ้านหินลาด 123 ครอบครัว บ้านท่าแสงจันทร์ 97 ครอบครัว บ้านสะหมองใต้ 67 ครอบครัว บ้านท่าหิน 159 ครอบครัว บ้านใหม่ 158 ครอบครัว และบ้านท่าแท 768 ครอบครัว [3]มีการจัดสรรพื้นที่ชั่วพักคราวให้ผู้ประสบภัยจำนวน 5 แห่ง ในตัวเมืองเมืองสนามไซย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหน่วยกู้ภัยจากประเทศไทยและนานาชาติ ได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งมอบเงิน สิ่งของเครื่องใช้ยังชีพแก่ชาวบ้านผู้ประสบภัย
โดยนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม -14 ตุลาคม 2561 รัฐบาลลาวได้รับเงินบริจาค 2,222 หน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ แบ่งการรับบริจาคผ่าน ผ่านกระทรวงแรงงาน สวัสดิการและสังคม โดยมียอดดังนี้ (1) เงินกีบจำนวน 2000 ตื้อกีบ (2) เงินบาท 85 ล้านบาท (3) เงิน 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เงินบริจาคผ่านเฉพาะแขวงอัตตะปือ เป็น (1) เงินสด 52,2000 ล้านกีบ, (2) ข้าวสาร 706 ตัน มูลค่า 42,00 ล้านกีบ (3) เครื่องอุปโภค 76,6 000 ล้านกีบ การบริจาคผ่านบริษัทเซเปียน-เซน้ำน้อย ได้สร้างบ้านพักชั่วคราว 140 หลัง และห้องน้ำ 5 หลัง มุลค่า 8 แสนดอลล่ารห์สหรัฐ และมอบเงินช่วยเหลือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำลังก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวเพิ่มเติม ส่วนการบริจาคของบริษัทไทยคือ ราชบุรีโฮลดิ้ง บริจาคเงินช่วยเหลือ 5 ล้านบาท และธนาคารนำเข้าและส่งออกประเทศไทย (EXIM) บริจาคเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท
ปัจจุบัน(ตุลาคม 2561) จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก เป็นระยะเวลา 4 เดือน มีผู้เสียชีวิต สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยจากตัวเลขทางการของรัฐ ยอดผู้เสียชีวิต 43 ศพ เป็นเด็กต่ำกว่าอายุ 10 ปี 15 ศพ เป็นผู้หญิง 19 ศพ และยังสูญหาย 28 คน (Vientiane Time23 ตุลาคม 2561) ขณะนี้ตัวเลขทางการของรัฐบาลลาว ระบุว่า มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ทั้งหมด 19 หมู่บ้าน 3,540 ครอบครัว 14,440 คน โดยบ้านเรือน 957 หลังคาเรือน และ 1127 ครอบครัว ประชากร 4560 คน ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด ใน 6 หมู่บ้านเสียหายทั้งหมด และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 รัฐบาลลาวได้ประกาศยุติการค้นหาผู้สูญหายอย่างเป็นทางการ
การช่วยเหลือเบื้องต้น ชาวบ้านจำนวนมากยังพักอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวที่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN) AusAidและเต็นท์ที่ทางหน่วยงานรัฐสร้างให้ และมีบางหมู่บ้านที่ได้เริ่มกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านและซ่อมแซมบ้านเดิมที่ไม่เสียหายมาก และชาวบ้านได้รับเงินค่าอาหารวันละ 5000กีบหรือ 20 บาทต่อวัน ข้าวสาร 20กิโลกรัมต่อเดือน เมื่อเดือนสิงหาคมชาวบ้านได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 500,000 กีบหรือ 1200 บาท ต่อคน และเดือนกันยายน ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่ม 100,000 กีบ หรือ 400 บาท ต่อคน และ 1.5 ล้านกีบ หรือ 5769 บาท เป็นค่าทำศพผู้เสียชีวิตที่ค้นพบ
การดำเนินการปัจจุบัน
รัฐบาลลาวได้แถลงข่าวว่า สาเหตุที่เขื่อนแตกในครั้งนี้ เนื่องจากการเขื่อนก่อสร้างไมได้มาตรฐาน จึงทำให้เกิดภัยพิบัติและมีการตั้งคณะกรรมการภัยพิบัติฉุกเฉินแห่งชาติ โดยท่านสอนไซ สีพันดอน ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยมีนายบุญทอง จิตมณี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการทั้งสองชุด คือ
ชุดแรก: คณะกรรมการเฉพาะกิจ (Taskforce committee) ตรวจสอบสาเหตุเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ส่วน “D” (Saddle Dam D) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขื่อนย่อยของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัวลง เกิดรอยร้าว ทำให้น้ำไหลทะลักออกมา ทั้งนี้คณะกรรมการยินดีรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบสาเหตุการแตกร้าวของเขื่อน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศขององค์ ICOLD(International Commission On large dams – Switzerland ) และชุดสอง: คณะกรรมการระดับสูง (high-level committee) เพื่อตรวจสอบความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการก่อสร้าง และการแจ้งเตือนภัยพิบัติ
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ท่านสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รายงานการตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกครั้งนี้จะสามารถสรุปผลได้ในเดือน มกราคม 2562
การสร้างที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย
ปัจจุบัน โดยรัฐบาลลาวและบริษัท SK E&C ต้องสร้างใหม่และนำเข้าบ้านพักสำเร็จรูป เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ 500 หลังโดยรัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อให้ประชาชนอยู่จำนวน 450 ห้อง บริษัทให้เปล่า 50 ห้อง โดยเฉพาะมีการสร้างบ้านพักชั่วคราวนอยู่ 5 จุดคือ จุดที่ 1 โรงเรียนประถมบ้านหาดยาว มี 140 ห้อง และได้จัดสรรประชาชนจำนวน 138 ครอบครัวเข้าอยู่แล้ว
จุดที่ 2 ดงบาก กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง รวม 45 หลัง(จะจัดให้บ้านใหม่ บ้านท่าหินใต้)
จุดที่ 3 จุดพักชั่วคราวบ้านต่อมอหยอด โดยประชาชนบ้านหินลาด 172 ครอบครัว มี 701 คน ขนาด 500 หลัง ส่วนนี้ โดยรัฐบาลจะจัดซื้อ 450 หลัง และบริษัทจะช่วยเหลือ 50 หลัง จุดที่ 4 จุดดอนบก ประชาชนบ้านท่าแสงจันทร์ จำนวน 125 ครอบครัว ประชากร 523 คน จุดที่ 5 ปินดง มีจำนวน 89 ครอบครัว ประชากร 330 คน โดยทั้ง 5 จุดมีการจัดสรรให้ประชาชนไปอยู่บ้านพักชั่วคราวนี้ภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018
ตามรายงานการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบนั้น คณะต้านภัยพิบัติได้จัดตั้งปฏิบัติเป็น 3 ระยะคือ ระยะฉุกเฉิน ระยะชั่วคราว ระยะจัดสรรถาวรขณะนี้อยู่ในระยะจัดสรรชั่วคราว และ[4]ทางแขวงเตรียมที่จะใช้พื้นที่ป่าจำนวน 1750 เฮกตาร์ จัดสรรเป็นที่ดินทำกินและมอบให้ผู้ประสบภัยครอบครัวละ 1 เฮกตาร์ต่อไป
- ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
สภาพพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีพื้นที่ราบเกษตรกรรมขนาดใหญ่ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน บริเวณนั้นคือ แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่ปลูกเลี้ยงคนทั้งแขวงอัตตะปือ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ายะเหิร เผ่าโอย ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มีนาข้าว มีวัวควาย และมีเศรษฐกิจดี นางบุญมี บ้านท่าหินใต้ กล่าวว่า “ครอบครัวมีนา มีข้าวเป็นรายได้หลักที่ทั้งส่งลูกเรียนหนังสือ เวลาเจ็บป่วยก็ได้ขายข้าวไปหาหมอ หาอาหารจากธรรมชาติเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กับแม่น้ำและภูเขา” ขณะนี้ต้องหมดสิ้นทุกอย่างง
เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านกว่าสี่พันครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างหนัก สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยงและพื้นที่ทำการเกษตรไปเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือชาวบ้านต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า และยังไม่มีอนาคตว่าจะเริ่มต้นอย่างไรต่อไป
ขณะที่กระบวนการก่อนการสร้างเขื่อน มีรายงานว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ไม่รับการแจ้งและปรึกษาอย่างแท้จริง จากรายงานของ ของ Tanya Lee จาก International Rivers (ปี 2008 )[5]ระบุว่า มีการโยกย้ายชาวบ้าน พื้นที่รองรับผู้อพยพที่หนาแน่นบริเวณแขวงปากซอง ลาวใต้ ประชาชนอย่างน้อย 6000 คน ถูกบังคับให้โยกย้ายระหว่างปี 2539-2544 เพื่อปูทางให้มีการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยและห้วยเฮาะที่มีการวางแผนก่อสร้างในช่วงนั้น บริเวณพื้นที่ที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ตกทอดมาแต่บรรพชนของพวกชนเผ่า แม่น้ำเซเปียนและเซน้ำน้อย แม่น้ำและลำห้วยเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลจืดไหลอย่างเสรี พวกเขาสามารถเก็บของป่าได้จากในป่า มีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่สูงโดยปลูกพันธุ์ผักต่าง ๆ ผสมกับผลไม้ กาแฟ และข้าวแต่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่ดิฉันไปพัก เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถางป่า และมีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมกับรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่พวกเขาคุ้นเคย ทั้งไม่มีแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงที่สามารถจับปลา หรือสามารถนำน้ำสะอาดมาใช้งานได้เหมือนที่เคยเป็นมา ชาวบ้านเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นคนซื้อข้าว ซื้อเนื้อ และซื้อปลาจากตลาดซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5-8 กม. โดยมีระบบส่งน้ำแบบใช้แรงโน้มถ่วงเพียงเครื่องเดียวเพื่อจ่ายน้ำสำหรับใช้งานประจำวันทั้งชุมชนซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเป็นแรงงานรายวันในแปลงปลูกกาแฟบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นของบริษัทจากลาวและต่างชาติ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟจากแปลงปลูกเล็ก ๆ ในที่ดินซึ่งได้รับมาใกล้กับบ้าน เพื่อส่งขายให้กับบริษัท
ชาวบ้านบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดจากความหิวโหยอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย แม้ว่าในหมู่บ้านเดิมที่พวกเขาอยู่ เด็กอาจต้องเสียค่าเล่าเรียน และคนป่วยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบ้าง แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายในระดับที่ชาวบ้านจ่ายได้ เนื่องจากไม่มีรายจ่ายในด้านอื่น ๆ มากนัก แต่ในปัจจุบัน ครอบครัวเหล่านี้บอกว่ากำลังประสบปัญหาไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน หรือไม่มีเงินรักษาตัวยามเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่เก็บสะสมได้ต้องนำไปใช้ซื้ออาหาร และมีชาวบ้าน 2 หมู่บ้านที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ในรายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า “อันที่จริง ชาวบ้านในชุมชนที่ดิฉันได้พบใกล้กับแขวงปากซองหรือัตตะปือ ต่างไม่เคยได้ทราบเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการนี้ที่จะมีต่อผืนดิน แม่น้ำ และสัตว์น้ำรอบตัวพวกเขาเลย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถูกโยกย้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงรู้สึกโกรธและต้องการทราบว่า บริษัทจากไทยและเกาหลีใต้มีแผนการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของพวกเขา
ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า “บริษัทที่ต้องการสร้างเขื่อนเซน้ำน้อย ควรมาพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านเสียก่อน พวกเขาไม่ควรเริ่มก่อสร้างเขื่อนโดยที่ยังไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน พวกเราที่เป็นชาวบ้านต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อไร… พวกเรากังวลมากในตอนนี้ ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้างของบริษัท SK แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยเข้ามาที่หมู่บ้านเพื่ออธิบายอะไรเลย พวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เรายังคงรอคอยข้อมูลเหล่านี้” เหล่านี้คือเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อน
นอกจากนี้พื้นที่มีเมืองสนามไซย ยังมีความเสี่ยงของการเคลื่อนย้ายระเบิดที่ตกค้างตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม โดยคำสัมภาษณ์ของ นายบลอสซัม กิลมอร์ ผู้อำนวยการกลุ่มให้คำปรึกษาด้านกับระเบิดหรือเอ็มเอจี มูลนิธิของอังกฤษในสปป.ลาว ออกแถลงแสดงความกังวลต่อเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ว่าอาจทำให้กับระเบิดที่ไม่ทำงานจำนวนมากที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามเคลื่อนย้ายตำแหน่ง จากสถานการณ์พบว่า สิ่งที่อันตรายคือชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคนเข้าไปตั้งค่ายหลบภัยในพื้นที่ไม่ปลอดภัยด้านกับระเบิด โดยเฉพาะเขตสะหนามไซ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับยืนยันว่าอันตราย ขณะที่แขวงอัตตะปือเป็นพื้นที่ปนเปื้อนไปด้วยวัตถุระเบิดจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากรณีน้ำท่วมครั้งนี้อาจทำให้พื้นที่ที่เคลียร์กับระเบิดไปแล้วต้องมีการตรวจสอบใหม่
ผลกระทบข้ามพรมแดน
ปริมาณน้ำจากเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยที่พังลงมายังไหลลงแม่น้ำเซกอง และทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน เกิดภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเซกองสูงขึ้นฉับพลันในวันที่ 24 -25กรกฎาคม 2560 น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่กว่า 17 หมู่บ้าน 3074 ครอบครัว ประชากรกว่า 15,000 คน ในพื้นที่ 3 ชุมชน เมืองเสียมปาง จังหวัดสตรึงเตร็ง ประเทศกัมพูชา ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากบ้านเรือนและย้ายไปยังพื้นที่สูง แม้จะไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมฉับพลัน แต่ประชาชนกัมพูชาต้องเสียทรัพย์สินทั้งบ้านเรือ ข้าวของเครื่องใช้ สัตว์เลี้ยง เป็นจำนวนมาก สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน โรงเรียน วัด และคลินิกชุมชนต้องถูกน้ำท่วมขังและได้รับความเสียหายอย่างมาก
ความเกี่ยวข้องของกลุ่มทุนไทย
- บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้น และเซ็นสัญญาควบคุมการก่อสร้าง บริษัทได้ทำหนังสือชี้แจ้งเหตุการณ์เขื่อนแตกไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 และนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผย เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประชาชน ครอบครัว และทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เขื่อนดินย่อยส่วน D ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ทรุดตัว โดยบริษัทได้มอบเงินสนับสนุนช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1,300 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า กรณีเขื่อนแตกจะไม่กระทบต่อแผนการจ่ายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ในต้นปี 2562 อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงเลื่อนการส่งขายไฟฟ้าเชิงพานิชย์จากเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นปลายปี 2562 เนื่องจากบริษัทรอรัฐบาลลาวตรวจสอบข้อเท็จจริงสาเหตุที่ทำให้เขื่อนเสริม D เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา[6] รวมถึงแผนสรุปความเสียหายและการซ่อมบำรุงดังกล่าว
- ธนาคารทั้ง 4 แห่งคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรุงไทย ธนชาติ และธนาคารนำเข้าและส่งออกในฐานะผู้ให้เงินกู้แบบสินเชื่อร่วม(Syndicated Loan) จำนวน 22,000 ล้านบาท แก่บริษัทเซเปียน เซน้ำน้อย จำกัด จากเหตุการณ์เขื่อนแตกดังกล่า มีธนาคารนำเข้าและส่งออกได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 100,000 บาทและผู้อำนวยการธนาคารกรุงไทย กล่าวเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและมีเพียงการเปิดบัญชีรับบริจาคเงิน และเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบกับการดำเนินโครงการ
- บริษัททีม คอนซัลติ้ง ในฐานะผู้ศึกษาความเหมาะสมในการจัดสร้าง ออกแบบวิศวกรรม ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควบคุมการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานตามแบบจากบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด[7]https://www.thaipr.net/general/516340)
- ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลไก มาตรการในการควบคุมการลงทุนธุรกิจไทยในต่างประเทศ
สืบเนื่องจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จำกั (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ คิดสัดส่วนมูลค่าในการลงหุ้นกว่า 40,000 ล้านบาท นับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดียวกับบริษัทของเกาหลีใต้ และทางบริษัทเองได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report Award ประจำปี 2557 ประเภทรางวัลดีเด่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2(วันที่ 24 พ.ย.57 เว็บไซต์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยมีนางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้แทนรับมอบ จากสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) ในรูปแบบของรายงานความยั่งยืน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในรูปแบบรายงานความยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ เป็น 1 ใน 16 บริษัท ที่ได้รับรางวัลประเภทดีเด่น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจังเสมอมา
ทั้งนี้ ในรายงานความยั่งยืนของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้แสดงเนื้อหาถึงการดำเนินการจัดการควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นผลและเป็นรูปธรรม โดยยึดหลัก “มิตรภาพระหว่างอุตสาหกรรมระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม” ในการดำเนินงาน การนำแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Industry) มุ่งมั่นให้เกิดการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงไฟฟ้าตามหลักการพัฒนาโดยไม่ทำลาย ตลอดจนการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการขยายผลพลังงานชุมชน เป็นต้น
เช่นเดียวกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อ 65 บริษัท หุ้นยั่งยืน(เมื่อวันที่ 16 ต.ค.60 ) และมีชื่อของโดยมีบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ใน 65 บริษัทนั้นด้วย ซึ่ง โดยระบุว่า บริษัทสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกซึ่งผลส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 14000 คนในแขวงอัตตะปือ ทางบริษัทยังไม่มีแผนแสดงความรับผิดชอบต่อเนื่องที่ชัดเจนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งบริษัทได้บรรจุเป็นภารกิจสำคัญในการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงหลักสิ่งแวดล้อม สังคมและการบรรษัทภิบาล
เหตุการณ์ความเสียหายครั้งนี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทางภาคธุรกิจได้แสดงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจทั้งบริษัทและธนาคาร ทั้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเร่งชดเชยและเยียวยาชุมชนจากการสูญเสีย และต้องให้ชุมชนได้เข้าถึงกระบวนการพูดคุยเกี่ยวการชดเชยและเยียวยาอย่างเหมาะสมและเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามหลักการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติได้รับรองไว้ ทั้ง 3 เสาหลัก ปกป้อง เคารพ และเยียวยา เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รัฐบาลไทยกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

[1]: https://www.ryt9.com/s/iq10/1789676
[2] https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1059208
[3] แนะนำให้รู้จัก เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_1059208
[4] http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Homeless.php
[5] https://www.internationalrivers.org/blogs/294/xe-pian%E2%80%93xe-namnoy-affected-people-want-consultation-before-construction?fbclid=IwAR1GDsCzkM2FyZX9PJewpFfSCj3Ku_vOTHtZCt_ILQrZ3kZ1jTVUpzRnN74
0 comments on “สถานการณ์และความคืบหน้า กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แตก ที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว”